สต๊อก LNG ยุโรปท่วม โอกาส “ธุรกิจเทรดดิ้ง” ปตท.ลุย

LNG
แฟ้มภาพ REUTERS/Issei Kato/File Photo/File Photo

นับเป็นเวลา 40 ปี ที่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. (Trading) เข้ามามีบทบาทในการจัดหาน้ำมันให้กลุ่ม ปตท.ส่งออก และทำธุรกิจซื้อมาขายไปกับคู่ค้ากว่า 1,500 รายใน 70 ประเทศ เพื่อสร้างรายได้กลับสู่ประเทศ จนทำให้ปัจจุบันหน่วยนี้มีการซื้อขายน้ำมัน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากกว่าปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศไทยที่ซื้อขาย 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีดีล 10,000 ดีล

ทำงานแบบ 24 ชั่วโมง 7 วัน ในสำนักงานทั่วโลก 6 แห่งคือ ไทย สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ อาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลอนดอน และฮิวสตัน สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนการเทรดภายนอกประเทศ (out-out) สูงถึง 60% สร้างรายได้กลับสู่ประเทศ ในฐานะ Global Trading Firm

“นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. (PTT Trading) กล่าวว่า คีย์สำคัญมีพันธกิจสำคัญ 3 ประการ คือ การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการสร้างอนาคตตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม

พงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์
พงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์

ในปี 2565 มีการซื้อขายน้ำมัน 1.5 ล้านบาร์เรล มีการนำเข้าน้ำมันดิบในประเทศไทย 7.6 แสนบาร์เรลต่อวัน มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG แบบตลาดจร (LNG spot) ประมาณ 3.3 ล้านตัน หรือ 53 ลำ ส่วนเป้าหมายในปี 2566 ยังคาดการณ์ว่าการซื้อขายน้ำมันจะใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนการนำเข้า LNG spot มีโอกาสจะเพิ่มเป็น 60 ลำ ปริมาณ 4 แสนตัน หรือขยับเข้าใกล้ 100 ลำ หรือประมาณ 6 ล้านตัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

“ปีก่อนราคา LNG spot พีกถึง 80 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่เราซื้อพีกสุด 40 เหรียญสหรัฐ แต่ตอนนี้ซัพพลาย LNG ล้น สต๊อก LNG ในยุโรปล้นกว่า 60% จากปกติอยู่ที่ 30% ฉะนั้น ปลายปีราคา LNG ไม่ต้องกังวล ตอนนี้ราคาเหลือประมาณ 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เป็นเรื่องดีของประเทศ ส่วนราคาล่วงหน้าส่งมอบเดือนธันวาคมอยู่ที่ 15-16 เหรียญสหรัฐ ซึ่งการซื้อของ ปตท.สามารถทำได้ในราคาเฉลี่ยไม่เกิน 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแน่นอน ส่วนจะลดค่าไฟได้เท่าไรขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกพ.”

ส่วนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ ได้มีโครงการ “Project 1” เป็นการร่วมมือกันระหว่างองค์กรภายใน ปตท. เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองและการเพิ่มมูลค่า (value added) ในตลาดโลก

สุดท้ายคือ การสร้างอนาคตเพื่อตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยจัดหาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลวจากหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของประเทศ นอกจากนี้ยังแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ การเข้าสู่ตลาด carbon credit trading และการค้าเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) เป็นต้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนกลุ่ม ปตท. และประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมาย