ชง รมว.คลัง ตั้งกรรมการสอบประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี แจ้งความ “ไลน์สั่งงานลับ”

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

ธนารักษ์รับลูกนายกฯ ชง รมว.คลัง ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใสประมูลท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก พร้อมเดินหน้าแจ้งความปมไลน์หลุด ฐานความผิดขัดขวางการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ ชี้เซ็นสัญญาล่าช้า เม็ดเงินเข้ารัฐหาย 1.5 พันล้านบาท

วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการคลังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใสการประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกนั้น ในวันนี้จะเสนอ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามนโยบายให้เร็วที่สุด เพื่อลดความคลางแคลงใจของสาธารณชน ซึ่งกรมธนารักษ์มีความมั่นใจว่าขั้นตอนการดำเนินการเปิดประมูลมีความโปร่งใสแน่นอน

สำหรับคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเข้ามาตรวจสอบการดำเนินการทางเอกสาร ธุรการทั้งหมด ซึ่งธนารักษ์มีข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดแล้ว และลงพื้นที่ไปตรวจสอบการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกด้วย เนื่องจากมีประเด็นเรื่องไลน์หลุด ต้องไปตรวจสอบว่ามีการกระทำอย่างนี้จริงหรือไม่ หรือในระบบท่อทั้งหมดที่จะเตรียมการในการส่งมอบมีจุดใดบ้างที่หากลงนามในสัญญากับคู่สัญญารายใหม่แล้ว จะไม่มีปัญหาในการดำเนินงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับผู้บริโภค หรือผู้ใช้น้ำโดยเด็ดขาด

ส่วนกรณีเรื่องตรวจสอบรายได้ย้อนหลังของบริษัท อีสท์วอเตอร์ ถือเป็นการดำเนินการโดยทั่วไป เพราะทุกครั้งที่มีการยื่นการนำส่งรายได้มา ก็มีการตรวจสอบทุกครั้ง แต่อาจจะยังไม่ครบถ้วน ดังนั้น จึงจะเข้าไปตรวจสอบอีกครั้งว่าปริมาณน้ำที่ยื่นเข้ามาถูกต้องหรือไม่ กับวงเงินที่นำส่งรายได้ เป็นต้น

“ถ้าเกิดลงนามในสัญญาแล้ว บริษัท วงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด จะต้องมีการลงพื้นที่ไปด้วยพร้อมกันกับเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ และทางบริษัท อีสท์วอเตอร์ ด้วย ในฐานะผู้ส่งมอบ แล้วจะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่จะเป็นความเสี่ยงให้เรียบร้อย เนื่องจากยังมีท่อที่ต่อไปยังผู้บริโภค ต้องไปดูข้อเท็จจริงว่าท่อนั้นเป็นของผู้บริโภค หรือของอีสท์วอเตอร์ จากนั้นจึงจะรายงานมาที่ผม เพื่อให้การรับมอบและส่งมอบพื้นที่และทรัพย์สินดำเนินการเสร็จสิ้น”

ขณะที่กรณีเรื่องไลน์หลุดนั้น จะต้องดูว่าข้อความที่ส่งมานั้น เข้าลักษณะเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 หรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการแจ้งความดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าวนี้แน่นอน โดยธนารักษ์เป็นผู้เสียหาย หากเพิกเฉย ไม่ดำเนินการใด ๆ ก็จะเป็นปัญหา ซึ่งสิ่งที่ทำจะยึดหลักในกฎหมายและขอบเขตหน้าที่ของกรม

ทั้งนี้ การเดินหน้าเซ็นสัญญากับ บริษัท วงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนรายใหม่ที่ชนะการประมูล กรมต้องการจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะความล่าช้าที่เกิดขึ้น ถือเป็นความเสียหาย ที่จะมีเม็ดเงินเข้ารัฐ 1,500 ล้านบาท กรณีที่มีการเซ็นสัญญาในช่วงแรก และที่สำคัญ ซึ่งมีประเด็นว่ากรมธนารักษ์เร่งรีบหรือไม่ ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องเร่งรีบ เนื่องจากตามกฎหมายระบุไว้ว่า เมื่อคณะกรรมการที่ราชพัสดุเคาะแล้วว่าเอกชนรายใดเป็นผู้ชนะการประมูล กรมธนารักษ์จะต้องมีการเดินหน้าลงนามในสัญญา

“การเดินหน้าลงนามสัญญากับ วงศ์สยามก่อสร้าง สามารถดำเนินการได้เลย เพราะศาลไม่ได้สั่งคุ้มครอง อีสท์วอเตอร์ จึงไม่มีอะไรให้กรมหยุดดำเนินการ และหากชะลอดำเนินการก็จะมีความเสี่ยง โดยเฉพาะอธิบดี ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และถือเป็นการประมาทเลินเล่อ ทำให้ได้รับรายได้เข้ารัฐล่าช้า ซึ่งถือเป็นความผิดทาง พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิด ฉะนั้น ทุกอย่างเราจึงต้องดำเนินการภายใต้กติกาและกฎหมาย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเผยแพร่การสั่งงานผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ของหนึ่งในผู้บริหารอีสท์วอเตอร์ มีใจความลักษณะที่ว่า ไม่ให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ในการเข้าสำรวจพื้นที่ท่อส่งน้ำอีอีซี เช่น ได้สั่ง รปภ.ให้เข้มงวดในการเข้าพื้นที่โดยไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้า สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำงานที่บ้านไม่ต้องเข้าพื้นที่เพื่อไม่ต้องมีคนให้ข้อมูล และสั่งให้ล็อกประตูสถานีสูบน้ำ อาคาร ไฟฟ้าทั้งหมด