สมุทรปราการ พบคลัสเตอร์ใหม่ ติดโควิดในแคมป์ก่อสร้าง 17 ราย

กระทรวงสาธารณสุข เผย พบคลัสเตอร์ใหม่ แคมป์คนงานก่อสร้างสมุทรปราการติดโควิด 17 ราย

วันที่ 21 มีนาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มก้อน จ.สมุทรปราการ พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อในแคมป์คนงานก่อสร้าง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อรวมแล้ว 17 ราย ซึ่งจุดเริ่มต้นของคลัสเตอร์นี้ มาจากคนงานก่อสร้างเพศหญิง ชาวกัมพูชา อายุ 29 ปี ที่ทำงานอยู่ในแคมป์ก่อสร้างย่านสุขุมวิท 117 ต.บางเมืองใหม่ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ผู้ป่วยรายนี้เดินทางไปขอตรวจโควิดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อขอใบอนุญาตต่ออายุการทำงาน ผลพบว่าติดเชื้อโควิด จึงเข้ารับการรักษาตัวที่ โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ

จากนั้น ทีมสอบสวนโรคได้เข้าไปตรวจเชิงรุกในแคมป์คนงานที่สุขุมวิท 117 และแคมป์คนงานที่สุขุมวิท 107 พบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 16 ราย ประกอบด้วย คนงานไทย 4 ราย คนงานกัมพูชา 10 ราย และคนงานเมียนมา 2 ราย ซึ่งทั้งหมดนี้รักษาตัวอยู่ใน โรงพยาบาลของรัฐ ที่ จ.สมุทรปราการ

ส่วนการตรวจหาเชื้อในผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คนงานที่อยู่ในแคมป์ 584 คน และหอพักบางแค 14 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนวิศวกร 29 คน ผลตรวจไม่พบเชื้อ 23 ราย ยังเหลืออีก 6 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ

ทั้งนี้ นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้พบมีการระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้าง คือภายในแคมป์ที่พักและไซต์ก่อสร้าง มีการใช้งานพื้นที่และสิ่งของร่วมกัน เช่น อ่างชะล้าง ห้องสุขารวม ห้องอาบน้ำรวม และตู้กดน้ำดื่ม และพนักงานคนไทยมีการฝ่าฝืนมาตรการของบริษัท โดยไปพื้นที่เสี่ยงเพื่อสังสรรค์ หลังจากนั้นบริษัทจึงให้กลุ่มดังกล่าวออกจากงาน และพบว่ามี 1 รายตรวจพบเชื้อโควิด

ส่วนความคืบหน้าการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ย่านตลาดบางแค ตรวจไป 4,315 ราย มีผู้ติดเชื้อ 309 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.32 หน่วยบริการตรวจรถพระราชทาน 6,293 ราย ติดเชื้อ 26 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.6 รอผลอีก 2,108 ราย และการค้นหาเชิงรุกในชุมชนใกล้เคียง 4,886 ราย ติดเชื้อ 49 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.08 รอผล 386 ราย โดยผู้ติดเชื้อก็จะเข้าสู่ระบบการรักษาในสถานพยาบาล ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็จะได้รับการกักกันโรคและตรวจหาเชื้อต่อไป

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สั่งให้ปิดตลาด พร้อมปรับปรุงระบบสุขาภิบาล และมีมาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้ ได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่พ่อค้าแม่ค้า แรงงานทั้งไทยและต่างด้าว ตลอดจนชุมชนโดยรอบตลาด รวมถึงการออกบัตรรับรองผลการตรวจโควิด ก่อนอนุญาตให้กลับไปขายของในตลาดได้

ภาพรวมฉีดวัคซีน

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวถึงภาพรวมการฉีดวัคซีน และการบริหารจัดการวัคซีนว่า เราส่งวัคซีนไปยัง 13 จังหวัดล็อตแรกจำนวน 116,520 โดส และเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ก็ได้ส่งเพิ่มเติมในกทม. 12,000 โดสเพื่อควบคุมสถานการณ์ที่ตลาดบางแค รวมถึงสมุทรสาครอีก 34,920 โดส ซึ่งสมุทรสาครมีการรายงานว่าการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายแรกครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว และเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ส่งให้ กทม.เพิ่มเติมอีก 14,640 โดส ทำให้มีการส่งวัคซีนให้จงหวัดต่าง ๆ รวมกทม.แล้วเป็น 178,080 โดส

ส่วนวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ส่งให้สมุทรสาคร 10,000 โดส และวันที่ 19 มี.ค.ส่งให้ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการแห่งละ 5,000 โดส รวมเป็น 25,000 โดส ซึ่งรวมวัคซีนทั้งสอชนิดมีการส่งไปแล้ว 203,080 โดส ส่วนที่เหลือเช่น กทม. ตาก แม่สอด ผู้สูงอายุที่มีความประสงค์ต้องฉีดวัคซีแอสตร้าเซนเนก้าขณะนี้กำลังรวบรวมตัวเลข ทางส่วนกลางจะรีบจัดส่งไปให้

สำหรับยอดฉีดวัคซีนของไทย มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในวันที่ 20 มี.ค.รวม 2,704 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข รวมอสม.671 ราย เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 11 ราย บุคคลมีโรคประจำตัว 229 ราย ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 1,124 ราย ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 669 ราย ทำให้จำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ.- 20 มี.ค.2564) รวม 69,927 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข รวมอสม.32,207 ราย เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 7,763 ราย บุคคลมีโรคประจำตัว 5,122 ราย ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 1,514 ราย ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 23,321 ราย
ทั้งนี้ยังไม่รวมจำนวนประชาชนที่ออกหน่วยพื้นที่จากสถานพยาบาลของกรุงเทพฯไปฉีดที่ชุมชน ที่ตลาดบางแคอีกจำนวนหนึ่งเกือบพันกว่าราย เพราะฉะนั้นยอดรวมจริงๆ เกิน 7 หมื่นรายไปแล้ว และแต่ละจังหวัดมีการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายแรกไปเกือบครบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับกทม.ยังฉีดได้น้อย ก็จะมีการเร่งลงพื้นที่ฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น

การบริหารจัดการวัคซีนล็อตใหม่ 800,000โดส

เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมาทางประเทศจีนได้ส่งวัคซีนซิโนแวกมาไทยอีก 800,000 โดส พอมาถึงเราก็ต้องมีการตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ว่ามีความพร้อมครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัย คุณภาพการผลิตของโรงงาน ก็เป็นหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรม แล้วก็จะมีการนำส่งทดสอบในห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์น่าจะใช้เวลา 1-2 วันเพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนมีคุณภาพได้มาตรฐาน แล้วถ้ากระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้น คาดว่าสัปดาห์หน้าก็จะสามารถกระจายวัคซีนเอาไปฉีดให้แก่ประชาชนในกลุ่มต่างๆ ตามเป้าหมายที่เราวางไว้ 3 ประการ คือ 1.เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต 2.เพื่อให้บุคลากรทางสาธารณสุขที่ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 3.ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นตัว

อีกประเด็นที่มีคนถามเข้ามามากว่าถ้าฉีดแล้วจะสามารถขอใบรับรองวัคซีนได้อย่างไร ก็จะมีเอกสารรองรับให้ในสถานพยาบาล คาดว่าตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปจะมีบางคนได้ฉีดวัคซีนครบถ้วน 2 เข็ม จะได้เอกสารรับรองซึ่งจะมีการให้รายละเอียดในครั้งต่อไป