ส่องดัชนี “ค้าปลีก” รัฐ-เอกชน…ดันกำลังซื้อ

สัมภาษณ์

ปีที่ผ่านมาธุรกิจ “ค้าปลีก” เข้าโหมดซึมแทบจะทุกพื้นที่ ด้วยกำลังซื้อต่างจังหวัดแผ่วหนักจากปัญหาสินค้าเกษตร บวกกับผู้มีรายได้น้อยตกอยู่ในสภาวะติดกับดัก “หนี้ครัวเรือน” ที่พุ่งสูงปรี๊ด รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางและเหล่าบรรดาพนักงานออฟฟิศเงินเดือนต่างติดหล่ม “หนี้บัตรเครดิต”

จึงไม่ต้องแปลกใจที่กำลังซื้อโดยรวมจะชะลอตัวและหดหายลงไป โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด แม้ว่าตลาดในหัวเมืองหลักและเมืองที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวยังคงพอที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนให้ธุรกิจเดินต่อได้ แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับกำลังซื้อทั้งตลาดที่มีปัญหา

สอดคล้องกับตัวเลขภาพรวมธุรกิจในกลุ่มค้าปลีกปีที่ผ่านมาที่สะท้อนว่ายังน่าเป็นห่วง จากการเติบโตของธุรกิจและสินค้าในหมวดต่าง ๆ ที่กระจุกตัวเฉพาะสาขาในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองหลัก ๆ ของการท่องเที่ยว แต่กลุ่มนี้กลับมีสัดส่วนเพียง 30% เท่านั้น

ในทางกลับกัน 70% เป็นสาขาอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อของประชาชนในต่างจังหวัดไม่สู้ดีนัก เพราะนอกจากเศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัวแล้ว กลับยังอ่อนตัวลงไปอีก ตัวเลขปีที่ผ่านมาดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกจึงเติบโตได้เพียง 2.8%

“จริยา จิราธิวัฒน์” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ฉายภาพกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางของตลาดค้าปลีกมูลค่า 3.3 ล้านล้านบาท จากนี้ว่า มีสัญญาณที่เป็นบวกเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยดูจากการขยายตัวโดยรวมของการจับจ่ายที่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว รวมถึงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่มีการขยับมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่โตได้เพียง 2.8% หรือเม็ดเงินประมาณ 3.3 ล้านล้านบาทซึ่งครอบคลุมธุรกิจค้าปลีกและกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ,กลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง ,สินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มสินค้าแฟชั่นและเครื่องสำอาง เป็นต้น

“ปีนี้มีแนวโน้มที่ดีของค้าปลีกเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เพราะต่างส่งสัญญาณดีขึ้น รวมถึงการลงทุนของภาครัฐที่เห็นสัญญาณชัดเจนขึ้น ปีที่แล้วเหมือนมีภาพลงทุน แต่เงินยังไม่ออกมา แต่ตอนนี้จะเห็นการลงทุนและเม็ดเงินที่จะเข้าไปลงทุนและกระจายในระบบชัดเจนมากขึ้น”

ทั้งนี้ มองว่าจากปัจจัยหนุนทั้งการลงทุนของภาครัฐที่เร่งปลุกเขตเศรษฐกิจอีอีซีหรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในประเทศ รวมถึงการลงทุนขยายสาขาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องของภาคเอกชนและกลุ่มค้าปลีก จะกระตุ้นตลาดได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเห็นภาพชัดของกำลังซื้อที่กระจายตัวและดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ทำให้กำลังซื้อโดยรวมทั้งต่างจังหวัดและชนชั้นกลางก็น่าจะดีขึ้น

เช่นเดียวกับภาพการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก “จริยา จิราธิวัฒน์” ฉายภาพว่า ผู้ประกอบการยังคงแข่งขันกันอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง แต่ยิ่งแข่งขันกันมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค ที่จะได้สินค้ามีคุณภาพ ลูกค้ามีทางเลือกที่ดี ๆ

ควบคู่กับการผลักดันให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางของการช็อปปิ้งเพื่อดึงเม็ดเงินการจับจ่ายจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเมืองไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ที่เราต้องการจะผลักดันอย่างต่อเนื่องและจริงจังในการทำให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางของการช็อปปิ้งให้ได้ นอกเหนือจากศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่เมืองไทยทำได้ดีและค่อนข้างประสบความสำเร็จ

นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วแต่จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวช็อปปิ้งมากขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่การเข้ามาเที่ยวแล้วก็กลับไป เพราะบางทีการมาท่องเที่ยวอย่างเดียวเขาก็อาจไม่กลับมาอีก แต่ถ้าเราทำให้เขาเข้ามาท่องเที่ยวและมีการช็อปปิ้งที่ดี เขาก็อยากจะกลับมาอีกและกลับมาเรื่อย ๆ เพราะการช็อปปิ้งมันมี “ซีซั่นนอล”

และเมื่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวมายาวนานได้ผ่านจุดต่ำสุดของช่วงขาลง และเริ่มปรับสู่แนวโน้มขาขึ้นอย่างช้า ๆ


ถ้าตัวแปรด้านเศรษฐกิจ การเมือง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานราคาสินค้าเกษตร อยู่ในภาวะขาขึ้นต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าการกระจายตัวของเศรษฐกิจจะลงสู่ฐานราก ส่งผลให้กำลังซื้อรากหญ้าฟื้นตัวได้ไม่ยาก