“คมนาคม” รับมือผู้โดยสารเพิ่มหลังธุรกิจรีสตาร์ต-เพิ่มรถทุกช่องทาง

แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะแตะหลักหน่วยมานานหลายวัน แต่รัฐบาลยังถือคติ “การ์ดอย่าตก” ต่อเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศถึงวันที่ 31 พ.ค. 2563 คงมาตรการยาแรงสกัดการแพร่ระบาด อาทิ มาตรการเคอร์ฟิว 22.00-04.00 น. ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด

ขณะเดียวกันเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้า ประชาชนหาเช้ากินค่ำมีรายได้ รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ 6 กลุ่มกิจการ-กิจกรรม ได้แก่ ตลาด ร้านอาหาร กิจการค้าปลีก-ส่ง กีฬาสันทนาการ ร้านตัดผม-เสริมสวย และร้านตัดแต่งขนสัตว์ ตั้งแต่ 3 พ.ค.และเตรียมประกาศลอต 2 ให้กิจการขนาดใหญ่วันที่ 17 พ.ค.นี้ คาดว่าจะทำให้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตที่ปกติมากขึ้น จากปัจจุบันถนนในกรุงเทพฯเริ่มเนืองแน่น หลังคนเริ่มออกจากบ้านไปทำงาน ทั้งใช้รถยนต์ส่วนตัว และใช้บริการขนส่งสาธารณะ

“ขนส่ง” ยังเข้มห้ามเดินรถ

“จิรุตม์ วิศาลจิตร” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมยังไม่มีแนวคิดจะผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ แต่อย่างใด โดยเฉพาะการเดินทางกับรถหมวด 2 และหมวด 3 เพราะรัฐบาลยังคงมาตรการเคอร์ฟิวเวลา 22.00-04.00 น.อยู่ จึงไม่สามารถผ่อนปรนให้กลับมาเดินรถโดยสารได้ตามปกติ การผ่อนปรนจะทำได้ต่อเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดมีคำสั่งผ่อนปรนก่อน ส่วนการเรียกร้องขอให้เปิดเดินรถตามปกติของผู้ประกอบการรถทัวร์ ขณะนี้ยังไม่มีเข้ามา อย่างไรก็ตาม รถโดยสารที่วิ่งระยะสั้นไม่เกิน 300 กม. ยังให้วิ่งได้ตามปกติ

“กิจกรรมของกรม เช่น ต่อใบขับขี่ได้เลื่อนออกไปไม่มีกำหนด เพื่อไม่ให้คนเดินทางไปสำนักงานขนส่งจังหวัดหรือสำนักงานใหญ่ เพราะยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ยังเปิดชำระภาษีรถยนต์ประจำปีแบบเลื่อนล้อต่อภาษีที่กรมและสำนักงานขนส่งจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ตามปกติ”

เพิ่มรถเมล์ 2,500 คันให้บริการ

ด้าน “สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล” ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ปกติ ขสมก.มีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านคน/วัน แต่ช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้ลดลงเหลือ 300,000 คน/วัน แต่หลังรัฐบาลผ่อนคลายกิจการ 6 ประเภท ทำให้ยอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 คน/วัน จำเป็นต้องเพิ่มรถเมล์เข้าไปในระบบมากขึ้น เพราะรถเมล์แต่ละคันยังจำเป็นต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร ทำให้บรรทุกผู้โดยสารได้เพียง 25 คน/คัน และตกค้างเป็นจำนวนมาก

“ช่วงที่มีผู้โดยสาร 300,000 คน/วัน มีรถโดยสารให้บริการ 2,000-2,100 คัน/วัน หรือ 70% ของจำนวนรถทั้งหมด ตอนนี้เมื่อผู้โดยสารเพิ่มเป็น 500,000 คน/วัน จึงได้จัดรถเพิ่มขึ้น 2,500-2,600 คัน/วัน หรือคิดเป็น 80% ของจำนวนรถทั้งหมด ในช่วงเร่งด่วนเช้า-เย็น จะปล่อยรถถี่ขึ้นเป็น 5 นาที/คัน ช่วงนอกเวลาให้รถเมล์แต่ละสายเป็นผู้พิจารณาเองจะปล่อยรถถี่มากแค่ไหน ดูความต้องการของประชาชนเป็นหลัก และการให้บริการยังเป็นเวลา 05.00-21.00 น.”

ขึ้นรถไฟพุ่ง 4 แสน

“สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์” อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยสถิติการเดินทางรถไฟและรถไฟฟ้า ณ วันที่ 4 พ.ค. 2563 มีปริมาณผู้โดยสารในระบบราง 395,062 คน แบ่งเป็นรถไฟปกติ 2,151 เที่ยวคน/วัน แอร์พอร์ตลิงก์ 19,081 เที่ยวคน/วัน รถไฟฟ้า MRT 140,530 เที่ยวคน/วัน และรถไฟฟ้า BTS 233,300 เที่ยวคน/วัน เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวหรือ 100% จากสภาวการณ์ช่วงวันที่ 1 พ.ค. 2563 มีผู้โดยสารเฉลี่ย 189,000 เที่ยวคน/วัน

หลังเกิดเหตุการณ์รถบีทีเอสประแจสับรางเสีย รถให้บริการช้า มีผู้โดยสารตกค้างเป็นจำนวนมากเมื่อเช้าวันที่ 5 พ.ค. กรมได้ออกประกาศขอให้ผู้ให้บริการรถไฟระบบต่าง ๆ เพิ่มความเข้มงวดดูแลรักษาสภาพรถโดยสาร ระบบการเดินรถ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีความพร้อมสมบูรณ์ในการให้บริการ

หากมีความหนาแน่นในแต่ละสถานี ให้หน่วยงานผู้ให้บริการ บริหารการเข้าสู่ระบบ ตั้งแต่ก่อนการขึ้น-ลง เข้าสู่ชั้นจำหน่ายตั๋ว ก่อนผ่านหน้าประตูกั้นจัดเก็บค่าโดยสาร และก่อนเข้าสู่ขบวนรถ รวมถึงเว้นระยะห่างทางสังคม 1-2 เมตร สวมหน้ากากตลอดเวลา ขอให้ประชาชนวางแผนเผื่อเวลาในการเดินทาง

รฟม.-บีทีเอสเสริมรถเต็มที่

“วิทยา พันธุ์มงคล” รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 ระบบเพิ่มขึ้น ในส่วนสายสีน้ำเงิน ก่อนผ่อนคลายมาตรการมีผู้โดยสารเฉลี่ย 50,000 เที่ยวคน/วัน เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 เที่ยวคน/วัน

สายสีม่วงก่อนผ่อนคลายมาตรการมีผู้โดยสารเฉลี่ย 8,000-9,000 เที่ยวคน/วัน เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 เที่ยวคน/วัน

“ได้สั่งจัดขบวนรถให้บริการอย่างเต็มที่ สายสีน้ำเงินได้นำรถใหม่ทั้ง 36 ขบวนออกวิ่งให้บริการทุกขบวน และให้เพิ่มความถี่ปล่อยขบวนรถช่วงเร่งด่วนเป็น 3.5-4.5 นาที/ขบวน สายสีม่วง แม้จะมีผู้โดยสารน้อยกว่า ให้จัดขบวนรถออกวิ่งเต็มที่ประมาณ 12-16 ขบวน และเพิ่มความถี่ในการปล่อยขบวนรถในช่วงเร่งด่วนเป็น 4-5 นาที/ขบวน”

ขณะที่ “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า บีทีเอสนำรถไฟฟ้ามีอยู่ 98 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวม 392 ตู้ ออกให้บริการทั้งหมด รองรับผู้โดยสารอย่างเต็มที่ แต่ยอมรับว่าช่วงเร่งด่วนมีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมาก จนไม่สามารถรักษาระยะห่างระหว่างกันตามมาตรการได้ ส่วนในช่วงนอกเวลาไม่มีปัญหาอะไร

“กทม.ได้จัดเทศกิจมาช่วยจัดระเบียบ อำนวยความสะดวก ให้ผู้ใช้บริการในสถานีหลัก 17 สถานี ที่มีผู้ใช้บริการมากช่วงเร่งด่วนเช้า-เย็น ให้เว้นระยะห่าง ไม่กระจุกตัว นอกจากนี้ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการให้เผื่อเวลาเดินทาง แม้จะนำขบวนรถที่มีอยู่ออกวิ่งให้บริการทั้งหมด แต่การจัดที่นั่งให้มีระยะห่างภายในขบวน ทำให้ความจุผู้โดยสารแต่ละขบวนลดลงเหลือเพียง 1 ใน 4 ของจำนวนผู้โดยสารที่รองรับได้ในภาวะปกติ”

และสนับสนุนแนวคิดขยับหรือเหลื่อมเวลาทำงานของราชการและเอกชน ให้เข้าทำงานหรือเลิกงานได้เร็วขึ้นหรือช้าลงกว่าปกติ และแนะนำให้ขยับวันหยุดงานเป็นวันศุกร์ หรือวันอื่น ๆ เพื่อกระจายการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ ลดความเสี่ยงและความแออัดการเดินทางของประชาชนในช่วงโควิด-19 นี้

เพิ่มความถี่เรือ

ด้าน “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังรัฐผ่อนคลายล็อกดาวน์ ทำให้ผู้โดยสารใช้บริการเรือคลองแสนแสบเพิ่มขึ้นจากช่วงล็อกดาวน์วันละ 5,000-6,000 คน/วัน เป็น 10,000 คน/วัน กำชับกรมเจ้าท่าและบริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ให้เพิ่มเรือช่วงเร่งด่วนเช้า 06.30-09.00 น. และเย็น 16.00-19.00 น. จาก 40 ลำ เป็น 60 ลำ และให้เพิ่มความถี่ปล่อยเรือทุก 3-5 นาที รวมถึงคงมาตรการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้โดยสาร, ติดตั้งจุดกดเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร รวมถึงต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ใช้บริการ

“วิทยา ยาม่วง” อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า สถานการณ์เรือด่วนเจ้าพระยาอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขผู้โดยสารช่วงผ่อนคลายล็อกดาวน์ จากเวลาปกติจะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 50,000 คน/วัน แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลดเหลือ 4,000 คน/วัน ทั้งนี้ประสานบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ผู้ประกอบการให้ปล่อยเรือโดยสารถี่ขึ้น จากเดิมจากต้นทางท่าเรือนนทบุรีมีความถี่อยู่ที่ 10 นาที/ลำ เป็นออกทันทีเมื่อผู้โดยสารเต็มลำ เพราะปัจจุบันมีมาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้จำกัดจำนวนผู้โดยสาร

บินในประเทศ 07.00-19.00 น.

ด้านทางอากาศ หลังสายการบินเริ่มเปิดบินเส้นทางในประเทศวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา “กพท.-สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย” ได้ออก “ประกาศเงื่อนไข-เงื่อนเวลาในการใช้ท่าอากาศยานเพื่อการขึ้นลงของอากาศยาน” โดยประกาศให้สนามบิน 18 แห่ง ได้แก่ น่านนคร พิษณุโลก แพร่ แม่สอด แม่ฮ่องสอน ลำปาง ขอนแก่น นครพนม บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร อุดรธานี อุบลราชธานี ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช และระนอง ให้บริการเฉพาะการบินในประเทศ โดยเปิดให้เครื่องบินขึ้นลงได้ระหว่างเวลา 07.00-19.00 น.

และให้สนามบินอีก 10 แห่ง ได้แก่ กระบี่ เชียงใหม่ เชียงราย สมุย สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ หัวหิน สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา เปิดให้เครื่องบินขึ้นลงได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตจัดตั้งสนามบินหรือท้ายใบรับรองการดำเนินงาน สนามบินสาธารณะ หากสนามบินใดไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาทำการ ให้เปิดให้เครื่องบินขึ้นลงได้เฉพาะระหว่างเวลา 07.00-19.00 น.


สำหรับผู้โดยสารและบุคคลผู้เดินทางโดยเครื่องบินจะต้องรับการตรวจคัดกรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด ในสนามบินปลายทางและจังหวัดปลายทางที่จะเดินทางไปโดยเคร่งครัด