ล้วงลึกชีวิตลับ “โพนี หม่า” ซีอีโอยักษ์ “เทนเซ็นต์” มหาเศรษฐีจีนที่รวยกว่า “แจ็ค หม่า”

เรื่องโดย กนกวรรณ มากเมฆ

หากพูดถึงยักษ์ใหญ่ในแวดวงเทคโนโลยีของจีนแล้ว หนึ่งในบริษัทที่จะไม่นึกถึงไม่ได้เลยก็คือ “เทนเซ็นต์” (Tencent) เจ้าแห่งโลกอินเทอร์เน็ตที่คนไทยอาจยังไม่ค่อยคุ้นชื่อ แต่หากพูดถึงแอปพลิเคชั่นสนทนายอดนิยมในจีนอย่าง “วีแชต” (WeChat) หรือโปรแกรมสนทนาบนคอมพิวเตอร์เมื่อหลายปีมาแล้วอย่าง “คิวคิว” (QQ) หรือเว็บไซต์ Sanook หรือแอปพลิเคชั่นสตรีมมิ่งเพลงอย่าง JOOX เชื่อว่าหลายคนคงต้องร้องอ๋อ! แน่นอน

ธุรกิจของเทนเซนต์ยังแผ่ขยายไปหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเสิร์ชเอนจิ้น, โซเชียลเน็ตเวิร์ก, แพลตฟอร์มชำระเงิน, เกมออนไลน์, ลงทุนในสแน็ปแชต ฯลฯ ครอบคลุมทุกอย่างบนโลกอินเทอร์เน็ต เรียกได้ว่ามีอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่กว่า “อาลีบาบา” (Alibaba) ของ “แจ็ค หม่า” เสียอีก

เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเทนเซ็นต์ขับเคลื่อนผ่าน “โพนี หม่า” ซีอีโอเทนเซ็นต์ ผู้นำที่อาจยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เนื่องจากทำตัวโลว์โปรไฟล์ ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อ ไม่ค่อยขึ้นเวทีใดๆ พูดน้อย แต่จากการจัดอันดับของฟอร์บส์เมื่อปี 2017 เขาเป็นคนที่รวยเป็นอันดับ 2 ของจีน (สินทรัพย์ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ “แจ็ค หม่า” อยู่ในอันดับ 3 (สินทรัพย์ 4.01 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้เรื่องราวชีวิตของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น “มังกรซ่อนลาย” น่าค้นหาไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว

จากซัวเถาสู่เสิ่นเจิ้น

“โพนี หม่า” (Pony Ma) มีชื่อจริงๆ ว่า “หม่า ฮั่วเถิง” (Ma Huateng) โดยชื่อเล่น “โพนี” นั้นมาจากนามสกุล “หม่า” ของเขาที่ในภาษาจีนแปลว่า “ม้า” ตรงกับความหมายของ “Pony” ในภาษาอังกฤษนั่นเอง

“หม่า” เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1971 ที่เขตฉาวหยาง เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ชีวิตวัยเด็กของเขาไม่ค่อยเป็นที่เปิดเผยมากนัก แต่เขาเคยยืนยันในบทสัมภาษณ์หนึ่งว่าในตอนเด็ก เขามีความฝันว่าโตขึ้นอยากเป็น “นักดาราศาสตร์”

เมื่อ “หม่า เฉิงซู่” พ่อของเขา ย้ายมาทำงานเป็นผู้จัดการท่าเรือที่เมืองเสิ่นเจิ้น (ภายหลังเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน) เขาก็ย้ายตามพ่อมาศึกษาเล่าเรียน และจบปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเสิ่นเจิ้นในปี 1993

งานแรกของ “หม่า ฮั่วเถิง” หลังเรียนจบ ป.ตรี คือเป็นพนักงานบริษัท ไชน่า โมชั่น เทเลคอม ดีเวล็อปเมนต์ รับผิดชอบงานวิจัยและพัฒนาในส่วนพัฒนาระบบเพจจิ้งในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาระบบนี้ป้อนให้รัฐบาลจีน ก่อนจะมาทำงานที่บริษัท เสิ่นเจิ้น รันซัน คอมมูนิเคชั่นส์ ในส่วนวิจัยและพัฒนา ซึ่งเขาได้ดูแลงานระบบโทรศัพท์ทางอินเทอร์เน็ต

จากสตาร์ตอัพเล็กๆ สู่ “ยูนิคอร์น” แดนมังกร

ความสนใจส่วนตัวของหม่าคือการพัฒนาอินเทอร์เน็ตและอยู่บ้านท่องเว็บไซต์ จนในไม่ช้า เขาก็สรุปได้ว่าประเทศจีนนั้นพร้อมแล้วสำหรับบริการ IM (Instant messenger) หรือบริการส่งข้อความทันใจทางอินเทอร์เน็ต เขาและเพื่อนอีก 4 คน จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัทเทนเซ็นต์ขึ้นในปี 1998 ซึ่งในปีแรกเว็บไซต์ของเขาเต็มไปด้วยอุปสรรคต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาพนักงานขาดประสบการณ์ หรือปัญหาทางการเงิน

ภายในเวลาไม่กี่ปี เทนเซ็นต์ได้เพิ่มจำนวนพนักงาน ปรับแผนกลยุทธ์ใหม่ และโฟกัสไปที่บริการส่งข้อความทางอินเทอร์เน็ตที่มีชื่อโปรแกรมว่า OICQ ก่อนภายหลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น QQ และหลังจากได้เงินทุนจากต่างชาติเข้ามา ก็ทำให้คิวคิวทำกำไรเป็นครั้งแรกในปี 2001 และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

และในปี 2008 เทนเซ็นต์มาจับธุรกิจ “เกมออนไลน์” ซึ่งทำให้เทนเซ็นต์รับรู้รายได้มหาศาลจากการขายผลิตภัณฑ์ภายในเกม ในช่วงแรกเทนเซ็นต์ใช้วิธีซื้อลิขสิทธิ์เกมจากต่างชาติมาให้บริการ แต่ปัจจุบันหันมาผลิตเกมเอง พร้อมกับใส่เงินลงทุนกับบริษัทเกมชื่อดังของโลก เช่น Riot Games จากอเมริกา เจ้าของเกม “League of Legends” และเกมโด่งดังมากมาย หรือ CJ Games บริษัทเกมอันดับต้น ๆ จากเกาหลีใต้ เป็นต้น

จนมาถึงโปรดักต์พระเอกอย่าง “วีแชต” ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเกือบ 1 พันล้านคน ซึ่งตอนนี้วีแชตเองก็เป็นมากกว่าแอปฯส่งข้อความไปมาก เพราะยังกลายเป็นฐานสำหรับบริการอื่นๆ ทั้งระบบชำระเงินอย่าง “วีแชต เพย์” พร้อมผูกบริการต่างๆ ทั้งการซื้อสินค้าออนไลน์ สั่งอาหาร เรียกแท็กซี่ บริการโอนเงิน เป็นต้น

อาณาจักรเทนเซ็นต์ยังครอบคลุมถึงธุรกิจอื่นๆ เช่น เว็บบราวเซอร์ โปรแกรมแอนตี้ไวรัส แอปสโตร์ แพลตฟอร์มเพลงหรือวิดีโอออนไลน์ และในช่วงหลังยังขยายธุรกิจด้วยการซื้อหรือเข้าไปลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ทั้งในและนอกจีน การลงทุนที่สำคัญหนึ่งคือ การเข้าไปถือหุ้นราว 15% ใน “JD.com” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับ 2 ของจีน เพราะเทนเซ็นต์ไม่มีอีคอมเมิร์ซเป็นของตนเอง

หรือการเข้าไปลงทุนในแอปเรียกแท็กซี่ “Didi Dache” เข้าลงทุน 5% ในบริษัท “เทสล่า” ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเจ้าพ่อสตาร์ตอัพ “อีลอน มัสก์” รวมถึงการลงทุนแขนงอื่น เช่น อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ชีวิตรักนักธุรกิจหมื่นล้าน (ดอลล์)

บริษัทเทนเซ็นต์ที่โพนี หม่า ร่วมก่อตั้งตั้งแต่ปี 1998 ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จทางการเงินเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เขาได้พบกับภรรยาของเขาอีกด้วย

โพนี หม่า พบกับ “หวัง ต้านถิง” ในห้องแชตของ OICQ หลังจากบริการดังกล่าวเปิดตัวในปี 1999

สำหรับ “หวัง” ก็เป็นคนที่พยายามรักษาความโลว์โปรไฟล์เช่นกัน โดยมีรายงานว่าเธอเป็นนักดนตรีเล่นเอ้อหู (Erhu) ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีจีนชนิดหนึ่ง และหลังจากเขาและเธอแต่งงานกัน ทั้งคู่ก็มีลูกสาวด้วยกันในช่วงทศวรรษ 1990 ก่อนจะมีลูกชายอีก 1 คน

ด้านอื่นของชีวิต

ด้วยความที่ไม่ค่อยปรากฏตัวกับสื่อ ทำให้ไลฟ์สไตล์ของโพนี หม่า จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นความลับ

สำหรับคติพจน์ที่เขาเชื่อคือ “ในประเทศจีน ไอเดียไม่สำคัญ แต่จงลงมือทำมันเลย” ส่วนไอดอลของเขาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น “สตีฟ จ็อบส์” ไอดอลของคนในแวดวงไอทีอีกหลายคนนั่นเอง

ขณะที่บทบาททางการเมืองนั้น เนื่องจากเทนเซ็นต์เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กและครองตลาดแอปฯส่งข้อความในจีน และเขาเองก็เป็นสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ ทำให้เขาต้องดำเนินตามแนวนโยบายของรัฐบาล โดยเขากล่าวในงานเทคคอนเฟอเรนซ์ที่สิงคโปร์ว่า “ผู้คนจำนวนมากคิดว่าตัวเองสามารถพูดออกไปและไม่ต้องรับผิดชอบต่อคำพูดได้ แต่ผมคิดว่านั่นมันผิด … เราจะเป็นผู้สนับสนุนที่ยอดเยี่ยมของรัฐบาลในแง่ความปลอดภัยของข้อมูล ให้มีการควบคุมดูและอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น”

มหาเศรษฐีใจบุญ

ฟอร์บส์รายงานว่า “โพนี หม่า” ปัจจุบันวัย 46 ปี มีสินทรัพย์ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังมีรายงานว่าเขาเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงและผลงานศิลปะมูลค่ากว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีคฤหาสถ์หรู พื้นที่กว่า 19,600 ตารางฟุต ในฮ่องกง แต่ก็มีรายงานว่าเขาเป็นคนที่ชอบทำการกุศล โดยในปี 2016 โพนี หม่า ได้บริจาคเงินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับมูลนิธิการกุศลที่ช่วยเหลือในด้านสุขภาพและการศึกษาในประเทศจีน