“อังค์ถัด” เปิดปม “ไฟฟ้า” กับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ภาพ Pixabay

ความมีเสถียรภาพในการเข้าถึง “ไฟฟ้า” ถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยเด่นที่ดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries : LDCs) ที่นักวิเคราะห์มองว่า เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความพร้อมในการก้าวขึ้นสู่ “ประเทศกำลังพัฒนา” แม้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของการลงทุน “พลังงานทดแทน” มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่กลุ่ม LDCs ยังอยู่ในวงโคจรของการลงทุนพลังงานสิ้นเปลือง อย่างน้ำมัน ถ่านหิน เป็นต้น

รายงานประจำปี 2017 ของ “สหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา” หรือ “อังค์ถัด” ว่าด้วยเรื่อง “การเข้าถึงพลังงานไฟฟ้า” ที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด 47 ประเทศทั่วโลก ระบุว่าปัจจุบันกว่า 82% ในกลุ่ม LDCs ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ องค์ถัดคาดหวังที่จะเห็นทั้ง 47 ประเทศบรรลุเป้าหมายในการเข้าถึงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 350% ต่อปีภายในปี 2030

ดร.มูคิสะ คิทูยิ เลขาธิการอังค์ถัด กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต้องการให้ทุกคนจะเข้าถึงพลังงานอย่างยั่งยืนภายในปี 2030 โดย 1 ใน 5 เป้าหมายคือ ขยายโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการจัดส่งพลังงานไฟฟ้าในชาติพัฒนาน้อยที่สุด ในช่วง 13 ปีข้างหน้า

หลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีความเคลื่อนไหวในการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย โดยรายงานในปี 2014 ระบุว่า ภูฏานคือประเทศที่มีการพัฒนาด้านไฟฟ้าสูงที่สุด สามารถให้บริการประชาชนได้ 100% เมื่อเทียบกับอันดับสองในเอเชียอย่างเนปาล ที่เข้าถึง 85% อย่างไรก็ตาม จำนวนประชากรในภูฏานที่มีเพียง 752,700 คน เป็นปัจจัยหลักที่สร้างความได้เปรียบ

ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มที่มีการลงทุนพลังงานไฟฟ้ามากที่สุดใน LDCs ได้แก่ 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยภาคเอกชนและนักลงทุนข้ามชาติ เป็นการลงทุนแบบ “พลังงานสิ้นเปลือง” เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาจะพบว่าทั้ง 3 ประเทศสนใจ “พลังงานทดแทน” มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น กัมพูชา ส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ ทั้งยังเริ่มทำแผนที่จุดฮอตสปอตสำหรับพื้นที่รับแสงแดด โดย “ซันซีป กรุ๊ป” ของสิงคโปร์ ชนะการประมูลโครงการขนาด 10 เมกะวัตต์ในกัมพูชาเป็นโครงการแรก

ส่วน สปป.ลาว มีนักธุรกิจจีนให้ความสนใจเข้ามาเปิดบริษัท “ลาวกรีนซิตี้” ในกรุงเวียงจันทน์ ลุยทำโครงการโซลาร์เซลล์ฟาร์มเพื่อป้อนให้กับหมู่บ้านห่างไกลที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ส่วน เมียนมา ก็มีนักลงทุนจากประเทศไทย 3 บริษัท เข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม อังค์ถัดมองในภาพรวมว่าปัจจุบันการลงทุนพลังงานไฟฟ้าจากต่างชาติยังคงกระจุกตัว ขณะที่ประเทศแอฟริกาซึ่งมีรายชื่อถึง 33 ประเทศในกลุ่ม LDCs กลับมีการลงทุนค่อนข้างชะลอตัว

“ความเป็นจริงหากต้องการบรรลุเป้าหมายการลงทุนไฟฟ้าจากพลังงานสิ้นเปลือง ภายในปี 2030 มูลค่าการลงทุนควรจะอยู่ระหว่าง 12,000-40,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ผลศึกษาพบว่าแต่ละประเทศลงทุนเฉลี่ยเพียง 3,000 ล้านดอลลาร์ และบางประเทศยังมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรและการเข้าถึงแหล่งเงินกู้” ดร.คิทูยิกล่าว


การเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดพอ ๆ กับการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ซึ่งอังค์ถัดประเมินกลุ่ม LDCs สูญเสียรายได้ไปเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากปัญหาของการที่ไม่สามารถให้บริการพลังงานไฟฟ้าอย่างทั่วถึง