บอลโลกเปลี่ยนโฉม 4 ทีมใหญ่เปลี่ยนตามไม่ทัน

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ฟุตบอลโลก 2018 เลี้ยวเข้าสู่โค้งสุดท้ายกันแล้ว ถ้าดูจากรายชื่อทีมที่เข้ารอบน็อกเอาต์มา ทีมใหญ่ซึ่งแฟนบอลทั่วโลกเชื่อว่าน่าจะผ่านเข้ารอบมาได้ลึกกว่านี้ ขณะที่สัดส่วนเกือบค่อนหนึ่งเป็นทีมระดับกลางไปเสียได้

ทีมอย่างสเปน, อาร์เจนตินา, เยอรมนี และโปรตุเกส ที่เคยถูกวางว่าจะต้องเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นอย่างน้อย กลับพลาดท่าตกรอบ กลายเป็นทีมอย่างสวีเดน, โครเอเชีย หรือแม้แต่เจ้าภาพรัสเซีย ก็ยังเหลือรอดมาอยู่ในรอบก่อนรองชนะเลิศ

นั่นคือเสน่ห์ของฟุตบอลอีกอย่างหนึ่งเหมือนกับที่เคยพูดถึงรอบแรกของฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งมีทีมชาติระดับกลางหรือทีมที่สร้างผลงานล้มยักษ์ได้แบบเกินคาด และมาถึงรอบน็อกเอาต์ก็ยังเป็นหนังภาคต่อที่ตอกย้ำเสน่ห์ของเกมลูกหนังยุคใหม่ที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับเกม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหันกลับมาตั้งคำถามถึงที่มาของปรากฏการณ์ภาคต่อในครั้งนี้ด้วย

ถ้าจะลองจัดกลุ่มทีมใหญ่ที่ตกรอบไปทั้ง 4 ทีม ซึ่งล้วนเป็นทีมใน 10 อันดับแรกของฟีฟ่า โปรตุเกส กับอาร์เจนตินา ทีมอันดับ 4 และ 5 ของโลกตามลำดับ สามารถมารวมกลุ่มกันเป็นกรุ๊ปเดียวกันได้ในฐานะทีมที่มีทรัพยากร ศักยภาพ และสภาพทีมใกล้เคียงกัน ทีมฝอยทองและขุนพลฟ้า-ขาวในทศวรรษที่ผ่านมา เป็นสายทีมแบบ “ดาวเดี่ยว” คือพึ่งพาซูเปอร์สตาร์เป็นหลัก

ถึงโรนัลโด้จะระเบิดฟอร์มยิงแฮตทริก และเป็นฮีโร่ช่วยทีมเก็บแต้มสำคัญในเกมกับสเปนช่วงรอบแรกได้ แต่ในรอบ

น็อกเอาต์ที่เจอเกมรับเหนียวแน่นอย่างอุรุกวัยก็แผลงฤทธิ์ไม่ออก และส่งผลต่อผลการแข่ง หรืออย่างลิโอเนล เมสซี่ ที่อาจเป็นด้านตรงข้ามของโรนัลโด้ ในทัวร์นาเมนต์นี้ เมสซี่โชว์ฟอร์มไม่ออก ความกดดันจากภาระหน้าที่เหมือนกับเป็นผู้แบกทีมไว้ทั้งหมด ยิ่งทำให้อาร์เจนตินาที่ถึงจะมีแนวรุกพิษสงรอบด้านหลายรายก็ยังไม่ได้โอกาสโชว์ฝีเท้าร่วมกับทีมอย่างเต็มที่ (ข้อจำกัดเรื่องศักยภาพผู้จัดการทีมซึ่งดูเหมือนว่าอาร์เจนตินาจะมีปัญหาเรื่องนี้มากกว่า)

ทีมที่พึ่งพาผู้เล่นรายเดียวและยิ่งมีข้อจำกัดเรื่องการดึงศักยภาพผู้เล่นประกอบกับแท็กติกที่ยังไม่หลากหลายพอ แทบทำให้ทีมที่มีซูเปอร์สตาร์แบกความกดดันอย่างหนักจนท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้ทีมที่เล่นแบบ 11 คนครบถ้วนมากกว่า แม้ว่าศักยภาพผู้เล่นโดยรวมไม่ได้หนีห่างกันมากนัก

กว่า 3 ทศวรรษแล้วที่ทีมที่อาศัยผู้เล่นระดับดาวเตะเป็นตัวชูโรงคนเดียวต้องล้มเหลวในทัวร์นาเมนต์ระดับสูงที่สุดในวงการลูกหนัง ฟุตบอลโลก 6 ครั้งที่ผ่านมา แชมป์โลกตกเป็นของทีมชาติที่เล่นกันเป็นระบบแบบแผนมากกว่าพึ่งพิงซูเปอร์สตาร์

ขณะที่ทีมที่เล่นเป็นระบบแบบแผน เน้นการครองบอล บีบกดดันคู่ต่อสู้ ทีมในกลุ่มนี้อย่างสเปน และเยอรมนี ที่เคยเล่นเป็นระบบด้วยตัวผู้เล่นที่มีศักยภาพเติมเต็มกันและกันแบบครบถ้วน โธมัส มุลเลอร์ ที่ฟอร์มแรงในฟุตบอลโลก อยู่ถูกที่ถูกเวลา, มิโลสลาฟ โคลเซ่ หัวหอกที่ไม่ได้หวือหวาแต่พร้อมจบสกอร์เพื่อทีม ขณะที่แผงหลังยังมีตัวเก๋าที่ไว้ใจได้

อย่าง ฟิลิปป์ ลาห์ม, แมตส์ ฮุมเมิลส์ และ เจโรม บัวเต็ง กำลังทำผลงานได้ดี ส่วนผู้เล่นชุดนี้ก็เต็มไปด้วยดาวดัง แต่เป็นดาวดังที่ฟอร์มตกกันถ้วนหน้า

ระบบทีมที่ยังคงโครงสร้างอยู่แต่ประสิทธิภาพที่ด้อยลงจากคุณภาพของทรัพยากรที่เสื่อมถอยส่งผลต่อการเล่น เช่นเดียวกับสเปน ที่แม้จะไม่ได้รักษามาตรฐานแบบ tiki-taka ในช่วงพีกเหมือนฟุตบอลโลก 2010 และยูโร 2012 การต่อบอลที่สวยงามที่ทรงประสิทธิภาพขาดหายไป พร้อมกับผู้เล่นยุคทองที่โรยรา ขาดชาบี้ เอร์นันเดซ ขณะที่ อันเดรส อิเนียสต้า ก็อยู่ในช่วงท้ายสุดของการค้าแข้งแล้ว

ที่สำคัญคือเหล่าคู่ต่อสู้ที่พัฒนาไปกว่าเดิม แท็กติกการเล่นที่กลับมาได้รับความนิยม อย่างระบบ 3-5-2 เล่นด้วยกองหลังตัวกลาง 3 คน การบีบเกมสูงในแดนคู่ต่อสู้ที่มีแผงหลังแบบแพ็กเกมรับครบสูตรรวม 5 คน (เมื่อวิงแบ็กถอยลงมาเล่นเกมรับด้วย) ทำให้การบีบเกมสูงยากจะทำงานแบบเต็มประสิทธิภาพ คู่ต่อสู้เล่นฟุตบอลกันแบบนี้และแถมมาด้วยเกมโต้กลับเร็วแบบไดเร็กต์ฟุตบอล

ปรัชญาฟุตบอลที่เล่นด้วยการครองบอลและระบบทีมที่สมดุลถูกท้าทายด้วยวิวัฒนาการของเกมรับซึ่งถูกนำมาแก้ทางกับฟุตบอลของทีมใหญ่ที่มีศักยภาพทีมโดยรวมเหนือกว่า เมื่อทั้งระบบทีมไม่ได้ผล ผู้เล่นดาวเตะตัวเทพของทีมก็พึ่งพาไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน กว่าบุคลากรในทีมใหญ่จะรู้ตัวและยอมรับในข้อบกพร่องที่หยุดพัฒนาทีมไปตามกาลกระแสของโลกลูกหนังเป็นบทเรียนราคาแพงที่ต้องแลกมาด้วยความล้มเหลวครั้งใหญ่

ใช่ว่าปัญหานี้จะเกิดกับแค่ทีมที่ตกรอบไปเท่านั้น ทีมใหญ่ที่เหลือรอดอยู่ก็ใช่ว่าจะมีสภาพทีมเหนือกว่าชื่อที่กล่าวมาข้างต้น ความโกลาหลในแท็กติกทีมอย่างฝรั่งเศสที่วางแผนมาแบบเหนือคาด เบลเยียม (ในบางเกมที่เล่นไม่ออก) ก็ยังมีดวงที่เล่นแบบแปลก ๆ แบบถูกที่ถูกเวลาและมันได้ผลเท่านั้นเอง แต่ทีมที่เหลือข้างต้นไม่ได้มาแปลกอะไรมาก แต่แค่มาตรฐานตัวเองต่ำลง ขณะที่คู่ต่อสู้พัฒนาขึ้น สมการนี้ก็ได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างที่เห็นกัน