น้ำสรงมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษก จาก 108 แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วไทย สู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.10

ภาพมุมสูงสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 ในเมืองสุพรรณที่ใช้ทำน้ำสรงมุรธาภิเษก
รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 3-5 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ พระราชพิธีจะเป็นไปตามโบราณราชประเพณี ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ พิธีเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย โดยพิธีเบื้องต้นกำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 เมษายนนี้ นั่นก็คือ พิธีการจัดทำน้ำอภิเษกและน้ำสรงมุรธาภิเษก ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็คือ ขั้นตอนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสรงมุรธาภิเษก (การสรงน้ำเหนือพระเศียร) ในวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก เพื่อทรงประกาศพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ซึ่งการสรงน้ำมุรธาภิเษกนั้นถือว่าเป็นวินาทีที่เปลี่ยนพระราชสถานะสู่ความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ

แต่เดิมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนหน้านี้ใช้แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จำนวนไม่มากแหล่งนัก หลัก ๆ คือ น้ำจาก 4 สระเมืองสุพรรณที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และน้ำเบญจสุทธคงคา ซึ่งประกอบด้วย แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำเพชรบุรี และน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศประมาณ 10-20 แหล่ง

สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เป็นครั้งแรกที่มีการใช้น้ำจากทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด รวม 108 แหล่งน้ำ เพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศในพิธีมหามงคลของแผ่นดินในครั้งนี้ โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำน้ำอภิเษก

น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่จะใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ 1.น้ำสรงมุรธาภิเษก คือ น้ำที่สรงตั้งแต่พระเศียรลงมาทั่วทั้งพระวรกาย 2.น้ำอภิเษก สรงเฉพาะพระวรกาย ซึ่งน้ำทั้ง 2 อย่างที่จะใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้มีแหล่งที่มาต่างกัน แต่แหล่งน้ำ 9 แห่งที่ใช้ทำน้ำสรงมุรธาภิเษกนั้นถูกใช้ทำน้ำอภิเษกด้วย

 

แหล่งที่มาน้ำสรงมุรธาภิเษก 

น้ำสรงมุรธาภิเษกยึดตามโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ มาจาก 9 แหล่งน้ำ คือ น้ำจากสระ 4 สระเมืองสุพรรณ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ประกอบด้วย 1.สระเกษ 2.สระแก้ว 3.สระคา 4.สระยมนา และ น้ำเบญจสุทธคงคา หรือแม่น้ำบริสุทธิ์ทั้ง 5 สาย ประกอบด้วย 1.แม่น้ำบางปะกง ตักที่ตำบลพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก 2.แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี 3.แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง 4.แม่น้ำราชบุรี ตักที่บริเวณสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงส์ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 5.แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่บริเวณท่าน้ำวัดไชยศิริ ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

สระแก้ว หนึ่งในสี่สระน้ำศักดิ์สิทธิ์เมืองสุพรรณที่ใช้ทำน้ำสรงมุรธาภิเษก

 

แหล่งที่มาน้ำอภิเษก 

น้ำอภิเษกในพระราชพิธีครั้งนี้มาจากแหล่งน้ำ 108 แหล่งทั่วประเทศ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ประกอบด้วย

จังหวัดที่มีจำนวน 1 แหล่งน้ำ มีจำนวน 60 จังหวัด 60 แหล่งน้ำ ดังนี้

กรุงเทพมหานคร ได้แก่ น้ำในหอศาสตราคม ภายในพระบรมมหาราชวัง, กระบี่ ได้แก่ วังเทวดา อ.เมือง, กาญจนบุรี ได้แก่ แม่น้ำสามประสบ อ.สังขละบุรี, กาฬสินธุ์ ได้แก่ กุดน้ำกิน อ.เมือง, กำแพงเพชร ได้แก่ บ่อสามเสน อ.เมือง, ขอนแก่น ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์ (บาราย) วัดกู่ประภาชัย อ.น้ำพอง, ฉะเชิงเทรา ได้แก่ ปากน้ำโจ้โล้ หรือคลองท่าลาด อ.บางคล้า, ชลบุรี ได้แก่ สระเจ้าคุณเฒ่า วัดเขาบางทราย อ.เมือง, ชัยนาท ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดธรรมามูลวรวิหาร อ.เมือง, ชุมพร ได้แก่ บ่อน้ำทิพย์ถ้ำเขาพลู หรือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ถ้ำเขาพลู อ.ปะทิว,

เชียงราย ได้แก่ บ่อน้ำทิพย์ อ.แม่สาย, ตรัง ได้แก่ แม่น้ำตรัง บริเวณหน้าท่าน้ำ วัดประสิทธิชัย อ.เมือง, ตราด ได้แก่ น้ำตกธารมะยม อ.เกาะช้าง, ตาก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา, นครปฐม ได้แก่ สระน้ำจันทร์ หรือสระบัว อ.เมือง, นครพนม ได้แก่ สระน้ำมุรธาภิเษก หรือบ่อน้ำพระอินทร์ อ.ธาตุพนม, นครราชสีมา ได้แก่ ต้นน้ำลำตะคอง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง, นครสวรรค์ ได้แก่ บึงบอระเพ็ด อ.เมือง, นนทบุรี ได้แก่ กลางแม่น้ำเจ้าพระยา เบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร อ.เมือง, น่าน ได้แก่ บ่อน้ำทิพย์วัดสวนตาล อ.เมือง, บุรีรัมย์ ได้แก่ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดกลาง อ.เมือง, ปทุมธานี ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดศาลเจ้า อ.เมือง,

ประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือบ่อน้ำทิพย์ อ.บางสะพาน, พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ น้ำภายในพระเศียรหลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์ และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดตูม อ.พระนครศรีอยุธยา, พังงา ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ถ้ำน้ำผุด อ.เมือง, พิจิตร ได้แก่ แม่น้ำน่าน บริเวณหน้าพระอุโบสถวัดท่าหลวง อ.เมือง, พิษณุโลก ได้แก่ สระสองห้อง อ.เมือง, เพชรบุรี ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี ท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ อ.บ้านลาด, ภูเก็ต ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดไชยธาราราม อ.เมือง,

มหาสารคาม ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือหนองดูน อ.นาดูน, มุกดาหาร ได้แก่ น้ำตกศักดิ์สิทธิ์ อ.คำชะอี, แม่ฮ่องสอน ได้แก่ ถ้ำปลา อ.เมือง, ยโสธร ได้แก่ ท่าคำทอง อ.เมือง, ยะลา ได้แก่ สระแก้ว สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ อ.เมือง,ร้อยเอ็ด ได้แก่ สระชัยมงคล อ.เมือง, ระนอง ได้แก่ บ่อน้ำพุร้อนรักษะวาริน อ.เมือง, ระยอง ได้แก่ วังสามพญา อ.บ้านค่าย, ราชบุรี ได้แก่ สระโกสินารายณ์ อ.บ้านโป่ง, ลพบุรี ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อ.เมือง, ลำปาง ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือบ่อน้ำเลี้ยงพระนางจามเทวี อ.เกาะคา, ลำพูน ได้แก่ ดอยขะม้อ บ่อน้ำทิพย์ อ.เมือง, เลย ได้แก่ น้ำจากถ้ำเพียงดิน อ.เมือง,

ศรีสะเกษ ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ปราสาทสระกำแพงน้อย อ.อุทุมพรพิสัย, สกลนคร ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ภูน้ำลอด อ.เมือง, สงขลา ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดแหลมบ่อท่อ อ.กระแสสินธุ์, สตูล ได้แก่ บ่อน้ำพุร้อนทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง, สมุทรปราการ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าองค์พระสมุทรเจดีย์ อ.พระสมุทรเจดีย์, สมุทรสงคราม ได้แก่ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์คลองดาวดึงส์ อ.อัมพวา, สมุทรสาคร ได้แก่ แหล่งน้ำคลองดำเนินสะดวก อ.บ้านแพ้ว, สระแก้ว ได้แก่ สระแก้ว-สระขวัญ อ.เมือง, สระบุรี ได้แก่ แม่น้ำป่าสัก บริเวณบ้านท่าราบ อ.เสาไห้, สิงห์บุรี ได้แก่ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดโพธิ์เก้าต้น อ.ค่ายบางระจัน, สุราษฎร์ธานี ได้แก่ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์พระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร อ.ไชยา,

สุรินทร์ ได้แก่ สระโบราณ อ.เมือง, หนองคาย ได้แก่ สระมุจลินท์ หรือสระพญานาค อ.เมือง, หนองบัวลำภู ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดศรีคูณเมือง อ.เมือง, อ่างทอง ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพระอุโบสถวัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย, อำนาจเจริญ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน หรืออ่างเก็บน้ำห้วยปลาแดก อ.เมือง, อุดรธานี ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ คำชะโนด อ.บ้านดุง, อุตรดิตถ์ ได้แก่ บ่อน้ำทิพย์ อ.ลับแล, อุบลราชธานี ได้แก่ บ่อน้ำโจ้ก อ.วารินชำราบ

สระคา หนึ่งในสี่สระน้ำศักดิ์สิทธิ์เมืองสุพรรณที่ใช้ทำน้ำสรงมุรธาภิเษก

 

จังหวัดที่มีจำนวน 2 แหล่งน้ำ มีจำนวน 7 จังหวัด 14 แหล่งน้ำ ดังนี้

ชัยภูมิ ได้แก่ 1.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดไพรีพินาศ อ.เมือง 2.บ่อน้ำชีผุด แม่น้ำชี อ.หนองบัวแดง, นราธิวาส ได้แก่ 1.น้ำแบ่ง อ.สุไหงปาดี 2.น้ำตกสิรินธร อ.แว้ง, บึงกาฬ ได้แก่ 1.พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง อ.บึงโขงหลง 2.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ถ้ำพระ อ.เซกา, ปราจีนบุรี ได้แก่ 1.บ่อน้ำหน้าโบราณสถานรอยพระพุทธบาทคู่ อ.ศรีมโหสถ 2.โบราณสถานสระแก้ว อ.ศรีมโหสถ, พะเยา ได้แก่ 1.ขุนน้ำแม่ปืม อ.แม่ใจ 2.น้ำตกคะ หรือน้ำคะ อ.ปง, เพชรบูรณ์ ได้แก่ 1.สระแก้ว อ.ศรีเทพ 2.สระขวัญ อ.ศรีเทพ, อุทัยธานี ได้แก่ 1.แม่น้ำสะแกกรัง อ.เมือง 2.สระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ วัดมณีสถิตกปิฏฐาราม อ.เมือง

จังหวัดที่มีจำนวน 3 แหล่งน้ำ มีจำนวน 5 จังหวัด 15 แหล่งน้ำ ดังนี้

จันทบุรี ได้แก่ 1.สระแก้ว อ.ท่าใหม่ 2.ธารนารายณ์ อ.เมือง 3.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดพลับ อ.เมือง, เชียงใหม่ ได้แก่ 1.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดบุพพาราม อ.เมือง 2.อ่างกาหลวง อ.จอมทอง 3.ขุนน้ำแม่ปิง อ.เชียงดาว, นครนายก ได้แก่ 1.เขื่อนขุนด่านปราการชล อ.เมือง 2.บ่อน้ำทิพย์เมืองโบราณดงละคร อ.เมือง 3.บึงพระอาจารย์ อ.เมือง, พัทลุง ได้แก่ 1.สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดดอนศาลา อ.ควนขนุน 2.ถ้ำน้ำบนหุบเขาชัยบุรี อ.เมือง 3.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์พระบรมธาตุเขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน, สุโขทัย ได้แก่ 1.บ่อแก้ว อ.ศรีสัชนาลัย 2.บ่อทอง อ.ศรีสัชนาลัย 3.ตระพังทอง อ.เมือง

สระยมนา หนึ่งในสี่สระน้ำศักดิ์สิทธิ์เมืองสุพรรณที่ใช้ทำน้ำสรงมุรธาภิเษก

จังหวัดที่มีจำนวน 4 แหล่งน้ำ มีจำนวน 3 จังหวัด 12 แหล่งน้ำ ดังนี้

ปัตตานี ได้แก่ 1.น้ำสระวังพรายบัว อ.หนองจิก 2.บ่อทอง หรือบ่อช่างขุด อ.หนองจิก 3.บ่อไชย อ.หนองจิก 4.น้ำบ่อฤษี อ.หนองจิก, สุพรรณบุรี ได้แก่ 1.สระแก้ว อ.เมือง 2.สระคา อ.เมือง 3.สระยมนา อ.เมือง 4.สระเกษ อ.เมือง, แพร่ ได้แก่ 1.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ลำน้ำแม่คำมี อ.เมือง 2.บ่อน้ำวัดบ้านนันทาราม อ.เมือง 3.บ่อน้ำพระฤาษี อ.วังชิ้น 4.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดพระหลวง อ.สูงเม่น

จังหวัดที่มีจำนวน 6 แหล่งน้ำ มีจำนวน 1 จังหวัด 6 แหล่งน้ำ ดังนี้

นครศรีธรรมราช ได้แก่ 1.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดหน้าพระลาน อ.เมือง 2.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดเสมาเมือง อ.เมือง 3.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดเสมาไชย อ.เมือง 4.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดประตูขาว อ.เมือง 5.แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ห้วยเขามหาชัย อ.เมือง 6.แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ห้วยปากนาคราช อ.ลานสกา

สระเกษ หนึ่งในสี่สระน้ำศักดิ์สิทธิ์เมืองสุพรรณที่ใช้ทำน้ำสรงมุรธาภิเษก
ขั้นตอนการทำน้ำสรงมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษก

ขั้นตอนการเตรียมทำน้ำสรงมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษกจะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 เมษายน 2562 โดยเริ่มจากพิธีพลีกรรมตักน้ำพร้อมกันทั่วประเทศ ตามฤกษ์เวลา 11.52 น. ถึงเวลา 12.38 น. โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในพิธีของแต่ละจังหวัด ในกรณีจังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์มากกว่า 1 แหล่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดจะพิจารณามอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธานตามลำดับ

จากนั้นวันที่ 8 เมษายน เวลา 17.00-22.00 น. จะมีพิธีจัดทำน้ำอภิเษกและน้ำสรงมุรธาภิเษก ณ พระอารามหลวงประจำจังหวัด 76 จังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ส่วนพิธีจัดทำน้ำสรงมุรธาภิเษกใน 6 จังหวัดนั้น กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้ผู้บริหาร คือ ปลัดกระทรวง และรองปลัดกระทรวง เป็นประธาน

ทั้งนี้ ขั้นตอนพิธีพลีกรรมตักน้ำและพิธีจัดทำน้ำอภิเษกและน้ำสรงมุรธาภิเษกนั้นเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมพิธีด้วย โดยประชาชนจะต้องสวมชุดสุภาพสีอ่อน

ส่วนแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ หอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร มีกำหนดการต่างจากแหล่งน้ำในต่างจังหวัด เนื่องจากเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งผ่านการทำพิธีมาแล้ว จึงไม่ต้องมีพิธีทำน้ำอภิเษกเหมือนต่างจังหวัด โดยกรุงเทพมหานครจะดำเนินพิธีพลีกรรมตักน้ำในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 14.09 น. แล้วแห่เชิญมายังกระทรวงมหาดไทยเพื่อเก็บรักษาไว้ ก่อนนำไปประกอบพิธีเสกน้ำอภิเษกรวม

วันพุธที่ 10 เมษายน และวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน ทางจังหวัดจะเชิญคนโทน้ำอภิเษกของแต่ละจังหวัดมาเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทย โดยใช้รถประจำตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นรถเชิญคนโท

วันที่ 18 เมษายน เวลา 10.00 น. กระบวนแห่เชิญน้ำอภิเษกเริ่มเคลื่อนขบวนจากกระทรวงมหาดไทยไปยังวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ผู้ที่อยู่ในกระบวนแห่ประกอบด้วย กระบวนดุริยางค์กองทัพบก กระบวนธงชาติ รถแห่น้ำอภิเษก คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้เชิญคนโท ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการทุกจังหวัด รถตำรวจนำขบวนและปิดท้ายขบวน

วันที่ 18 เมษายน เวลา 17.19-21.30 น. ทำพิธีเสกน้ำอภิเษกรวม ณ วัดสุทัศนเทพวราราม โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

วันศุกร์ที่ 19 เมษายน เวลา 07.30 น. ริ้วกระบวนแห่เชิญคนโทน้ำอภิเษกจำนวน 86 ใบ จากวัดสุทัศนเทพวรารามไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยริ้วขบวนแห่ประกอบด้วย กระบวนดุริยางค์กองทัพเรือ กระบวนธงชาติ ผู้เชิญพานดอกไม้ธูปเทียนแพ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย ผู้เชิญพุ่มทอง-พุ่มเงิน พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด รถแห่น้ำอภิเษก คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้เชิญคนโท ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจกระทรวงมหาดไทย กระบวนดุริยางค์กองทัพอากาศ

เมื่อริ้วกระบวนไปถึงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ผู้เชิญคนโทน้ำมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษกส่งมอบคนโทน้ำให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะเชิญคนโทน้ำมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษกไปเก็บไว้ในมณฑปในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนกว่าจะถึงการพระราชพิธี

 


หมายเหตุ : ข้อมูลหลักจากกระทรวงมหาดไทย