บันทึกประวัติศาสตร์ ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค หลังเว้นว่าง 2 รัชกาล

นับตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2468 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2469) ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค หลังการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประเทศไทยก็ยังไม่มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกเลย จนกระทั่งถึงเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ขึ้น

เป็นเวลา 93 ปี ในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ 2 รัชกาลที่ประเทศไทยว่างเว้นจากพระราชพิธีนี้ แม้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 17 ครั้ง แต่เป็นการจัดขึ้นเพื่อเสด็จฯไปถวายผ้าพระกฐิน และโอกาสอื่น ๆ ดังนั้น การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ครั้งนี้จึงเป็นการรื้อฟื้นโบราณราชประเพณีที่สำคัญ และเป็นการจารึกประวัติศาสตร์บทสำคัญบทหนึ่ง ทั้งประวัติศาสตร์สถาบันพระมหากษัตริย์ ประวัติศาสตร์กองทัพเรือ ประวัติศาสตร์กรมศิลปากร และประวัติศาสตร์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับพิธีนี้

สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในครั้งนี้มีจุดตั้งต้นขบวนที่ท่าวาสุกรี แล้วเคลื่อนขบวนไปยังท่าราชวรดิฐ จากนั้นเสด็จฯโดยริ้วขบวนราบจากท่าราชวรดิฐไปยังพระบรมมหาราชวัง

ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประกอบด้วย เรือพระราชพิธี 52 ลำ รวมทั้งเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ใช้กำลังพลรวม 2,399 นาย เป็นกำลังพลฝีพาย 2,200 นาย และกำลังพลที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง และนักดนตรีประจำเรือ 199 นาย

การจัดริ้วขบวนพยุหยาตราเป็นแบบดาวล้อมเดือน แบ่งเป็น 3 สาย 5 ริ้ว ประกอบด้วย

1.ริ้วสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้ มีเรืออีเหลือง (เรือกลองนอก) เรือแตงโม (เรือกลองใน) ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ พร้อมด้วยเรือตำรวจ 3 ลำ และเรือแซง 1 ลำ รวมเป็นจำนวน 10 ลำ

2.ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง ประกอบด้วย เรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทะยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ ปิดท้ายสายในด้วย เรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก รวมเป็นจำนวน 14 ลำ

3.ริ้วสายนอก ประกอบด้วย เรือดั้ง 22 ลำ และเรือแซง 6 ลำ แบ่งเป็นริ้วละ 14 ลำ รวมเป็นจำนวน 28 ลำ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ส่วนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

ขั้นตอนพิธีโดยย่อในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค วันที่ 12 ธันวาคม 2562 มีดังนี้

เวลา 16.16 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงพระมาลาเส้าสูง และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระดำเนินไปยังท่าวาสุกรี ณ ที่นั้น องคมนตรี นายกรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าฯรับเสด็จ

เวลา 16.18 น. ผู้บัญชาการทหารเรือในฐานะผู้บัญชาการขบวนเสด็จฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลพระกรุณารายงานจำนวนเรือและกำลังพล

เวลา 16.19 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระแสงขรรค์ชัยศรี ขณะนั้นทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 21 นัด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดีฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ตามเสด็จในขบวนพยุหยาตรา

เวลา 16.24 น. ผู้ควบคุมเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานบัญชีกำลังพลประจำเรือ นายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เมื่อพร้อมแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางชลมารคออกจากท่าวาสุกรีไปตามชลวิถีท้องน้ำเจ้าพระยา ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่และกลองชนะประจำเรือพระราชพิธีประโคมขึ้นพร้อมกัน ขบวนเคลื่อนไปตามลำดับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงชัยเฉลิมพล

เวลา 17.10 น. เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เข้าเทียบท่าราชวรดิฐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ไปยังพลับพลาที่ประทับรับรอง หลังจากนั้น เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์เข้าเทียบท่าราชวรดิฐ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดีฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ตามเสด็จไปเฝ้าฯ ณ พลับพลาที่ประทับรับรอง

เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับพระราชยานพุดตานทอง ทรงพระแสงขรรค์ชัยศรี ยาตราโดยริ้วขบวนราบไปยังพระบรมมหาราชวัง มีพระราชยานถมอัญเชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9 นำริ้วขบวนราบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดีฯ ทรงพระดำเนินเข้าริ้วขบวนราบ ในฐานะราชองครักษ์ประจำพระองค์คู่เคียงพระราชยาน ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ริ้วขบวนราบยาตราออกจากเกยพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ท่าราชวรดิฐ ไปยังพระบรมมหาราชวัง

หลังประทับพักพระราชอิริยาบถแล้ว ทุกพระองค์ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี