เยอรมนีพัง แต่ระบบยังแกร่งรอวันผงาดอีกครั้ง

อายุขัยของบทความคราวที่แล้วซึ่งพูดถึงฟุตบอลโลก 2018 โดยเรียกทัวร์นาเมนต์นี้เป็นรายการแห่งความพลิกล็อกก็ยังคงไม่สิ้นอายุซะทีเดียว หลายทีมอกหักกับนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่มแบบเซอร์ไพรส์ โดยทีมที่พลาดที่สุดคงเป็นเยอรมนี แชมป์เก่า ซึ่งพลาดท่าแพ้เกาหลีใต้ โดนทีมโสมขาวฉุดลากขากลับบ้านเกิดตามกันไปด้วย

หลายคนพูดถึงอาถรรพ์ของแชมป์เก่าจากสถิติทัวร์นาเมนต์ 2 ปีที่ผ่านมา เมื่ออิตาลีตกรอบแบ่งกลุ่มในรายการปี 2010 และสเปนตกรอบแรกเมื่อปี 2014 ขณะที่เยอรมนีก็ตามรอยไปอีกทีมในปีนี้ เป็นฟุตบอลโลก 3 ครั้งซ้อนที่มีแชมป์เก่าตกรอบ

คงไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าเป็นเพราะเหตุผลเหนือธรรมชาติอันใดหรือไม่ ถ้าลองวิเคราะห์ด้วยหลักเหตุผล เห็นว่าคงจะพอพูดถึงเรื่อง “วงรอบ” การใช้งาน

นักเตะฝีเท้าขั้นเวิลด์คลาสที่สามารถรักษาฟอร์มระดับสูงสุดของตัวเองแบบสม่ำเสมอ (เป็นช่วงที่กราฟผลงานเป็นรูปฟันปลาขึ้นลงได้บ้าง แต่ไม่ได้หมายถึงช่วงที่ผลงานดิ่งแบบเส้นกราฟทิ่มลงเรื่อย ๆ) ส่วนใหญ่แล้วอยู่ระหว่าง 4-8 ปี หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าช่วงขาลงของอาชีพ

เมื่อนักเตะเข้าสู่ช่วงขาลง ทีมชาติจะลำเลียงถ่ายเลือดผู้เล่นชุดใหม่เข้ามาผสมกับเลือดเก่าที่เริ่มโรยราโดยที่ยังมีตัวหลักบางรายประคองอยู่ ช่วงเวลานี้ถ้าบริหารงานดีจะยังรักษาระดับทีมใกล้เคียงระดับเดิมอยู่ได้ที่ 3-4 ปี รวมแล้ววงรอบยุคทองส่วนใหญ่กินเวลาระหว่าง 7-12 ปี เมื่อเข้าถึงวงรอบถ่ายเลือดรอบที่ 2 ช่วงเวลานี้มักเป็นเวลาที่ยังตั้งตัวไม่ได้เสมอ (ไม่มีตัวหลักในทีมชุดเก่งคอยประคองแล้ว) จึงเห็นได้ว่าฟุตบอลยุคใหม่ไม่มีใครป้องกันแชมป์เมเจอร์ทัวร์นาเมนต์ได้เกิน 1 ครั้ง

สมมุติฐานนี้สะท้อนผ่านไทม์ไลน์ช่วงยุคทองของแต่ละทีมที่ผลัดกันครองแชมป์โลกกันมา อิตาลีรักษาฟอร์มทีมชุดเก่งมาหลังจากฟุตบอลโลกปี 2006 จนถึงช่วงยูโร 2016 ที่เข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ ขณะที่สเปนเติบโตโดดเด่นในช่วงยูโร 2008 และได้แชมป์ 3 รายการเป็นแซนด์วิช คือยูโร 2008 บอลโลก 2010 และป้องกันแชมป์ยูโร 2012 ได้ จากนั้นฟุตบอลโลก 2014 ก็มีสัญญาณถดถอย มนต์ขลังและประสิทธิภาพฟุตบอลแบบ tiki-taka ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

เยอรมนีก็เป็นเช่นเดียวกัน เดเอฟเบ หรือสมาคมฟุตบอลเยอรมนีใช้เวลาบ่มเพาะทีมชาติหลังความล้มเหลวในยูโร 2000 ใช้เวลาปรับเปลี่ยนระบบลีกและวางระบบฟุตบอลทีมชาติใหม่นานกว่าครึ่งทศวรรษก่อนมาเริ่มฉายแววในฟุตบอลโลก 2006 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ และประกาศศักดาอีกครั้งในฟุตบอลโลก 2010 แสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวของระบบและฝีเท้าผู้เล่นหน้าใหม่ซึ่งทำให้สโมสรยุโรปตาลุกเป็นแถบ ก่อนสมหวังในปี 2014 ที่มีผู้เล่นในจุดพีก

แทบทั้งหมดในทีมเช่นเดียวกับการทำงานของมันสมองอย่างโยอัคคิม เลิฟ ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตจากระบบซึ่งรันด้วยตัวมันเองหลังเยอรมนีปฏิรูปฟุตบอลในประเทศ

หลังถ่ายเลือดจากยุคมิโรสลาฟ โคลเซ่, ฟิลิปป์ ลาห์ม และบาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์

เมื่อจบปี 2014 ผู้เล่นที่ขยับขึ้นมาอย่างโธมัส มุลเลอร์, เมซุต โอซิล, โทนี่ โครส, แมตส์ ฮุมเมิลส์ และมานูเอล นอยเออร์ หลายคนเริ่มอยู่ในช่วงกลางของจุดสูงสุดในอาชีพการค้าแข้งแล้ว

ช่วงเมเจอร์ อีกรายการอย่างยูโร 2016 ที่ผู้เล่นทางเลือกอีกกลุ่มต้องขยับขึ้นมาผสมกับชุดมุลเลอร์ ถึงนอยเออร์ เยอรมนีเชื่อมต่อกันไม่สำเร็จ ต้องพบความล้มเหลวในยูโร 2016 รอบตัดเชือก ตามต่อมาด้วยฟุตบอลโลกหนล่าสุดที่เรียกได้ว่ามองเห็นหายนะมาตั้งแต่ช่วงอุ่นเครื่องที่ไม่ชนะใครหลายแมตช์ติดต่อกัน แต่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเยอรมนีมีศักยภาพพอ

แต่เมื่อถึงทัวร์นาเมนต์จริง ผู้เล่นตัวความหวังชุดเดิมอย่างมุลเลอร์, โอซิล, ฮุมเมิลส์ หรือแม้แต่โครส (ยิงฟรีคิกเป็นประตูชัยนัดสำคัญก็จริง) ผลงานโดยรวมของแข้งเหล่านี้แตกต่างจากช่วงพีกในทัวร์นาเมนต์เมื่อปี 2014 อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ผู้เล่นรายอื่นที่ควรจะหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายมาเป็นตัวหลักอย่างลีรอย ซาเน่, มาริโอ เกิตเซ่ ก็ไม่ถูกเลือกติดทีมมา หรือบางคนที่โชคร้ายบาดเจ็บก็ไม่ได้ติดมาด้วย ส่วนที่ติดมาอย่างมาร์โก รอยซ์ และจูเลียน แดร็กซ์เลอร์ ก็แผลงฤทธิ์ไม่ออก

สภาพของอินทรีเหล็กจึงออกมาอย่างที่เห็นในสภาพอาถรรพ์แชมป์เก่า ซึ่งเล่นแบบทุลักทุเล แพ้เม็กซิโกที่สดและปราดเปรียวกว่าชนะสวีเดนแบบฉิวเฉียด ก่อนแพ้เกาหลีใต้แบบหมดรูป โดยที่โยอาคิม เลิฟ กุนซือที่เคยเป็นพลังหนุ่มก็ยอมรับว่า ยากที่จะให้ตอบคำถามว่าทำไมเยอรมนีไม่สามารถยิงประตูขึ้นนำคู่แข่งได้แม้แต่นัดเดียว ขณะที่ระบบการเล่นของเยอรมนีไม่ต่างจากเดิมนัก แต่ประสิทธิภาพลดลงอย่างชัดเจน ทั้งความแม่นยำ ความเด็ดขาด ทีมเวิร์ก และการจบสกอร์

ฟุตบอลแบบเยอรมนีถึงจุดล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลเยอรมนีมีรากฐานเชิงระบบที่มั่นคงมาก ระบบที่แข็งแกร่ง เพียงขาดทรัพยากรจะมาเติมเต็มและหมุนฟันเฟืองให้เดินหน้าไปแบบมีประสิทธิภาพ เยอรมนีจะกลับไปวิเคราะห์ความล้มเหลวโดยอาศัย “ระบบ” ที่วางไว้และสร้างทรัพยากรหรืออะไรก็ตามมาอุดช่องโหว่ความผิดพลาดที่เกิด ถ้าไม่เกิดปัญหาชะงักงันภายใน ทีมชุดยู-21 ที่ได้แชมป์ยุโรปเมื่อปีก่อนน่าจะมีโอกาสขึ้นมาแจ้งเกิดเหมือนที่โอซิลและซามี เคดิร่า เคยทำก่อนปี 2010 และในอีก 4-5 ปีน่าจะได้เห็นเยอรมนีโฉมใหม่มาอวดโลกลูกหนังอีกครั้ง