“อินเดีย” รับไม้ต่อจีน แหล่งเติบโตระยะยาวเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

ถัดจากจีนก็เป็นอินเดียที่อยู่ในจอเรดาร์ความสนใจของทั่วโลก เนื่องจากมีการคาดการณ์อยู่เป็นระยะว่าเศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มจะเป็นรายถัดไปต่อจากจีนที่สามารถสร้างปาฏิหาริย์ทางการเติบโต หลังจากเศรษฐกิจจีนนั้นหมดความร้อนแรงไปหลายปี ไม่สามารถเติบโตอย่างตื่นตาตื่นใจในระดับเลขสองหลักอีกต่อไป และเข้าสู่การเติบโตแบบ new normal หรือความปกติใหม่ โดยจีนตั้งเป้าการเติบโตจากนี้ไปเฉลี่ย 6.5% ต่อปี เพราะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เน้นการเติบโตจากภายใน ลดพึ่งพาการส่งออก

อินเดียอยู่ในความสนใจของโลก เพราะอยู่ในเอเชียและมีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน และด้วยขนาดตลาดที่ใหญ่เช่นนี้ หากสามารถเพิ่มการเติบโตได้แบบที่จีนเคยทำสำเร็จ ก็ย่อมหมายถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้าของทั่วโลก

สัปดาห์ที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกรายงานประจำปีระบุว่า อินเดียเป็นช้างที่เริ่มออกวิ่งโดยคาดว่าเศรษฐกิจอินเดียปีหน้าจะเติบโต7.3% และปีถัดไปจะขยายตัว 7.5% มีสัดส่วนประมาณ 15% ของการเติบโตทั้งโลกเพราะการลงทุนและการบริโภคที่แข็งแกร่งของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟชี้ว่า อานิสงส์ที่โลกจะได้รับจากอินเดียในระยะนี้คงไม่ใหญ่มากนักเนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่เปิดมาก อีกทั้งระดับการค้าก็ยังไม่สูงเท่าจีน

รานิล ซัลกาโด หัวหน้าคณะทำงานไอเอ็มเอฟประจำอินเดียระบุว่า อย่างไรก็ตามอินเดียจะเป็นแหล่งการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจโลกในระยะ 30 ปีข้างหน้าหรือนานกว่านั้น เนื่องจากดินแดนภารตแห่งนี้มีประชากรวัยหนุ่มสาวที่พร้อมเป็นกำลังแรงงานจำนวนมาก โดยเหลือเวลาอีก 30 ปีก่อนที่ประชากรวัยทำงานจะลดลง

นอกจากนั้น อินเดียได้รับประโยชน์โดยตรงจากการมีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี นโยบายต่าง ๆ เน้นความมีเสถียรภาพนำหน้า มีการปฏิรูปสำคัญหลายอย่างในห้วงไม่กี่ปีมานี้ที่ทำได้สำเร็จ ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายภาษีสินค้าและบริการระดับชาติ (National GST) เป็นมาตรฐานเดียวกันแทนที่แต่ละรัฐจะมี GST ของตนเอง ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

ความสำเร็จการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ประการต่อมาของอินเดียคือการปรับปรุงกฎหมายล้มละลาย ที่มีการปรับกระบวนการให้สั้นลง ความสำเร็จประการที่ 3 คือความสามารถในการกำหนดกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย ซึ่งมีผลให้อัตราเงินเฟ้อและความคาดหวังเงินเฟ้อลดลง นอกจากนั้น ยังเห็นความพยายามของอินเดียที่จะปรับปรุงงบดุลของธนาคารต่าง ๆ และภาคเอกชน

ถึงกระนั้นก็ตามอินเดียยังมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ไข เช่น จำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพราะยังมีส่วนแบ่งการส่งออกในตลาดโลกต่ำ ต้องรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่น การแทรกแซงค่าเงินต้องเป็นไปอย่างจำกัดและทำแบบสองทาง ระวังเรื่องหนี้รัฐบาลและการขาดดุลงบประมาณขณะเดียวกัน การปฏิรูปเชิงโครงสร้างจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ไอเอ็มเอฟแนะว่า อินเดียควรนำตัวอย่างของจีนที่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตสองหลักเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน มาเป็นแรงบันดาลใจเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างนั้นบ้าง เพราะหากทำไม่ได้ก็เสี่ยงที่อินเดียจะ “แก่” ก่อนที่จะมีโอกาส “รวย”

หากอินเดียสามารถเป็นแหล่งเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจโลกใน 30 ปีต่อจากนี้ ก็เท่ากับว่าใช้เวลาใกล้เคียงกับจีน ทั้งนี้ ไตรมาส 4 ปีที่แล้วอินเดียครองตำแหน่งประเทศขนาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในโลกที่ระดับ 7.2% ในขณะที่จีนเติบโตเพียง 6.8%

ในสายตาผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า แม้ทั้งจีนและอินเดียจะมีอย่างหนึ่งเหมือนกันคือมีประชากรเกิน 1,000 ล้านคน แต่ทั้งสองประเทศมีพื้นฐานต่างกันนั่นคือ อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตย ซึ่งถือว่า


เป็นข้อได้เปรียบใหญ่เหนือจีน ดังนั้น การปฏิรูปอะไรก็ตามที่กำลังดำเนินอยู่ถือว่าเป็นเจตจำนงของประชาชน ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งมีผลให้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจสองเรื่องใหญ่ได้สำเร็จภายในเวลาเพียง 18 เดือน ได้แก่ การยกเลิกธนบัตรฉบับละ500 และ 1,000 รูปี เพื่อปราบปรามธนบัตรปลอม และการยกเครื่องกฎหมายภาษีสินค้าและบริการ