คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก : น้ำสรงมุรธาภิเษก

น้ำสรงมุรธาภิเษก

น้ำสรงมุรธาภิเษก คือ น้ำพระพุทธมนต์และเทพมนตร์สำหรับถวายพระมหากษัตริย์เพื่อสรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่น ๆ

ความแตกต่างระหว่างน้ำสรงมุรธาภิเษกกับน้ำอภิเษก คือ น้ำสรงมุรธาภิเษกเป็นน้ำที่ใช้รดเหนือพระเศียรลงมา (มุรธาแปลว่า หัว, ยอด) ส่วนน้ำอภิเษกเป็นน้ำที่ใช้รดพระวรกาย

น้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากแหล่งน้ำสำคัญ ในสมัยอยุธยาใช้น้ำจากสระสำคัญ 4 สระ ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 เพิ่มน้ำจากแม่น้ำสำคัญของประเทศอีก 5 สาย เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา (เบ็น-จะ-สุด-ทะ-คง-คา)”

ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เพิ่มน้ำจากแม่น้ำ 5 สาย ในประเทศอินเดีย ซึ่งเรียกว่า “ปัญจมหานที”

ต่อมาในรัชกาลที่ 6 เมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ. 2454 เพิ่มน้ำที่ตักจากแม่น้ำและแหล่งน้ำอื่น ๆ ที่ตามมณฑลต่าง ๆ ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคล โดยทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานสำคัญ 7 แห่ง และวัดสำคัญในมณฑลต่าง ๆ 10 มณฑล

ในรัชกาลที่ 7 ทำพิธีเสกน้ำเพิ่มจากที่ทำในรัชกาลที่ 6 อีกแห่งหนึ่ง คือที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

ล่วงมาถึงรัชกาลที่ 9 ทำพิธีเสกน้ำ 18 แห่งเท่าสมัยรัชกาลที่ 7 แต่เปลี่ยนสถานที่จากเดิม 2 แห่ง คือ เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์ และพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ เป็นบึงพลาญชัย (บึง-พะ-ลาน-ไช) จังหวัดร้อยเอ็ด และพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน

 

ที่มาข้อมูล : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา