พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

รัชกาลที่ 5

ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในประเทศไทย มีข้อมูลตามที่ ดร.นนทพร อยู่มั่งมี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เขียนไว้ในหนังสือ “เสวยราชสมบัติกษัตรา” ว่า สันนิษฐานว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในไทยรับรูปแบบมาจากพิธีราชสูยะของอินเดีย ซึ่งผู้ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต้องผ่านการประกอบพิธี 3 อย่าง คือ การอภิเษกหรืออินทราภิเษก การกระทำสัตย์ และการถวายราชสมบัติ โดยจะประกอบพิธีในพระราชมณเฑียรหรือท้องพระโรง

ในพื้นที่ที่เป็นราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน พบหลักฐานการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องต้นราวพุทธศตวรรษที่ 12 บริเวณจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงการอภิเษกเพื่อขึ้นครองราชสมบัติของเจ้าชายจิตรเสน เพื่อปกครองรัฐซึ่งสันนิษฐานว่าคืออาณาจักรเจินละ ซึ่งมีดินแดนส่วนหนึ่งอยู่ที่ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตามข้อมูลในหนังสือ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จัดทำโดยกระทรวงวัฒนธรรม บอกว่า เมื่อ พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป ยังไม่พร้อมมูลเต็มตำรา ครั้น พ.ศ. 2326 โปรดให้ข้าราชการผู้รู้ครั้งกรุงเก่าทำการสอบสวนร่วมกันตรวจสอบตำราว่าด้วยการราชาภิเษกในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงวัดประดู่ แล้วแต่งเรียบเรียงขึ้นไว้เป็นตำราเรียกว่า “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง” เป็นตำราเกี่ยวกับการราชาภิเษกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานในประเทศไทย

เมื่อได้แบบแผนการราชาภิเษกที่สมบูรณ์แล้ว อีกทั้งพระราชมณเฑียรสถานที่สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จ ใน พ.ศ. 2328 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้สมบูรณ์ตามแบบแผนอันได้เคยมีมาแต่เก่าก่อน
อีกครั้งหนึ่ง และแบบแผนการราชาภิเษกดังกล่าวได้รับการยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างสืบมา เพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์

จุลสารการจัดองค์ความรู้ สำนักพระราชวัง ให้ข้อมูลไว้ว่า การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นแบบแผนที่ถือปฏิบัติมาในรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3

ขั้นตอนสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ที่การสรงมรุธาภิเษก คือทรงรับน้ำอภิเษกเหนือพระเศียรโดยพระราชครูพราหมณ์ ด้วยเชื่อในคติว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพที่อุบัติมาเพื่อขจัดทุกข์เข็ญอาณาประชาราษฎร์ ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ให้มีความร่มเย็นและทรงบำรุงอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์

มาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีสัมพันธไมตรีกับประเทศยุโรป จึงทรงรับคติการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างราชสำนักยุโรป นอกจากนั้น โปรดเกล้าฯให้เพิ่มพระราชพิธีสงฆ์ ดังนั้นน้ำอภิเษกจึงมีทั้งน้ำพระพุทธมนต์และน้ำพระเทพมนต์ และกำหนดให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกประจำปี เรียกว่าวันฉัตรมงคล ถือปฏิบัติต่อมาในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนการพระราชพิธีบ้างตามความเหมาะสมในแต่ละสมัย

ในสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างย่นย่อ ตัดทอนพิธีการหลายประการ คงไว้เฉพาะที่จำเป็น กำหนดการพระราชพิธี 3 วัน คือวันที่ 3-5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 12 ครั้งใน 10 รัชกาล

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเกิดขึ้นแล้ว 11 ครั้ง ใน 9 รัชกาลที่ผ่านมา และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 12 เหตุที่จำนวนงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีมากกว่าจำนวนพระมหากษัตริย์ เนื่องจากว่าในบางรัชกาลมีการประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง โดยมีข้อมูลสรุปดังนี้

รัชกาลที่ 6

รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2328 เมื่อพระราชมณเฑียรสถานที่สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่งให้สมบูรณ์ตามราชประเพณีที่เคยมีมา

รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2352

รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2367

รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394

รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 เมื่อทรงครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ขณะมีพระชนมพรรษา 15 พรรษา การบริหารงานขณะนั้นจึงมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ครั้งที่ 2 วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา ทรงบรรลุนิติภาวะ

รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร เนื่องจากยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้งดการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครและการรื่นเริง ครั้งที่ 2 วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2454 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และให้นานาประเทศที่มีสัมพันธ์ทางพระราชไมตรีมาร่วมงานในพระราชพิธี

รัชกาลที่ 7

 

รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468

รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคตก่อนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

รัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 (ฤกษ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

 

อิทธิพลที่รับมาจากราชสำนักต่างประเทศ

แม้ที่มาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในไทยนั้นมาจากอิทธิพลศาสนาพราหมณ์ในประเทศอินเดีย แต่ในเวลาต่อมาราชสำนักไทยได้รับอิทธิพลจากราชสำนักต่างชาติเข้ามาในบางส่วน อย่างเช่นที่กล่าวไปคร่าว ๆ ว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้รับคติการสวมมงกุฎจากราชสำนักยุโรปเข้ามา นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดอีกหลายส่วนที่เราไม่ทราบกันว่าได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศเข้ามาเช่นกัน

ในงานเสวนา “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์” ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนหนังสือ “เสวยราชสมบัติกษัตรา” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระเก้าอี้หรือราชบัลลังก์ที่ชื่อว่า “พระที่นั่งภัทรบิฐ” ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณว่า พระเก้าอี้ตัวนี้มีลักษณะเหมือนเครื่องเรือนจีน รูปร่างเป็นวงโค้งคล้ายเกือกม้า มีแผ่นรองหลังเป็นไม้ทึบ ส่วนด้านอื่นที่เหลือเป็นเสาพนักพิง ซึ่งในสมัยโบราณเก้าอี้แบบนี้เป็นของชนชั้นสูง คือราชวงศ์หรือขุนนางเท่านั้น ทรงเก้าอี้ดังกล่าวจึงถูกนำไปประกอบเป็นพระราชยานหรือพระที่นั่ง

จากหลักฐานพบว่า พระเก้าอี้ตัวนี้ถูกประดิษฐ์ถวายเป็นเครื่องราชูปโภคในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยานครศรีธรรมราชในขณะนั้น แม้จะเป็นรูปร่างแบบเครื่องเรือนจีนแต่พระเก้าอี้ตัวนี้ถูกตกแต่งด้วยงานประณีตศิลป์ถมตะทอง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของงานฝีมือในจังหวัดนครศรีธรรมราชจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า พระที่นั่งกงมีตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งของจีน หรือก่อนสมัยสุโขทัยในบ้านเรา เก้าอี้แบบจีนที่ปรากฏหน้าตาทำนองเดียวกันกับพระที่นั่งภัทรบิฐ จึงทำให้เห็นว่า มีการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมของราชสำนักไทยและจีน

ด้าน ผศ.ดร.ดินาร์ บุญธรรม อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลถึงที่มาของพระที่นั่งภัทรบิฐว่า แม้จะเป็นพระเก้าอี้ที่มีรูปทรงคล้ายเครื่องเรือนจีน แต่มีลักษณะการจัดวางตำแหน่งแห่งที่คล้ายกันกับ “The Coro-nation Chair” หรือราชบัลลังก์ของอังกฤษอย่างมาก ลักษณะของ The Coronation Chair มีการตกแต่งด้วยงานประณีตศิลป์ที่มีลวดลายคล้ายกับงานถมทองของไทย ทำให้รัชกาลที่ 4 ทรงมีดำริเห็นว่า พระเก้าอี้ที่จะนำมาใช้ในพระที่นั่งภัทรบิฐจึงต้องเป็นพระเก้าอี้ซึ่งมีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชทำถวายไว้ รัชกาลที่ 4 จึงทรงมีดำริให้ดัดแปลงพระเก้าอี้ด้วยการตีปิดไม้ทึบทั้งสี่ด้านคล้ายแท่นหรือบัลลังก์ขึ้น จึงเกิดเป็นพระที่นั่งภัทรบิฐถาวรมาตั้งแต่พิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตั้งแต่นั้นมา

เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 4 ยังครองสมณเพศอยู่ พระองค์ได้ศึกษาภาษาอังกฤษและวิทยาการของโลกตะวันตกจากข่าวหนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร เอกสารเหล่านี้มีเนื้อความเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1838 หรือ พ.ศ. 2381 เป็นเวลา 13 ปีก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 4 จะเกิดขึ้น ทำให้เมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 4 จึงมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมรายละเอียดของพิธีหลาย ๆ อย่างเข้าไปในช่วงเวลานี้

ผศ.ดร.ดินาร์บอกอีกว่า การนำธรรมเนียมราชประเพณีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของอังกฤษมาใช้ไม่ได้หยุดอยู่แค่พระที่นั่งภัทรบิฐเท่านั้น ขั้นตอนการรับสิ่งของต่าง ๆ ขณะประทับบนพระที่นั่งก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษด้วย รัชกาลที่ 4 ทรงรับขั้นตอนการสวมมงกุฎแบบพิธีตะวันตกมา แต่เดิมก่อนรัชสมัยของพระองค์ในพิธีบรมราชาภิเษกไม่มีรายละเอียดขั้นตอนการสวมมงกุฎ เป็นเพียงการรับและวางไว้ข้างพระที่นั่ง แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงรับแล้วทรงสวมไว้

อีกประการที่สำคัญคือ การรับธรรมเนียมสวมพระธำมรงค์จากอังกฤษที่เรียกว่า “Wedding Ring of England” ตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลสูงสุดของอังกฤษ หรือที่เรียกว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ เมื่อกษัตริย์อังกฤษทรงรับจะเท่ากับพระองค์แต่งงานกับราชอาณาจักรหรือประเทศชาติ ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงเพิ่มธรรมเนียมนี้เข้าไปด้วย คือการรับพระธำมรงค์สององค์ ได้แก่ พระธำมรงค์วิเชียรจินดา มีรูปสัญลักษณ์คล้ายสังข์และรูปตรี ส่วนพระธำมรงค์รัตนวราวุธ ทำด้วยเพชรทั้งวง ทั้งสองวงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของพระเป็นเจ้า คือพระนารายณ์ และพระอิศวร เมื่อรับพระธำมรงค์ทั้งสองเแล้วจะสวมไว้ที่พระดัชนี (นิ้วชี้) ของพระหัตถ์ทั้งสองข้างในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น