พระราชพิธีบรมราชาภิเษกกับคติความเชื่อจักรพรรดิราช “ราชาผู้เหนือราชาทั้งหลาย”

หมายเหตุ : ภาพประกอบ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกกับเนื้อหา

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยเป็นพิธีที่ได้รับอิทธิลจากต่างชาติมาตั้งแต่เริ่มแรก โดยรับรูปแบบพระราชพิธีมาจากอินเดีย และมีการผสมผสานกันของคติความเชื่อต่าง ๆ ในเวลาต่อมา คติความเชื่อหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกับพระพิธีบรมราชาภิเษกก็คือ คติความเชื่อจักรพรรดิราช

ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พูดคุยให้ความรู้ในการเสวนา เสวยราชสมบัติกษัตรา หัวข้อ “คติโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 ที่ผ่านมา ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.สุเนตรชี้ให้เห็นว่าคติจักรพรรดิราชมีความเชื่อมโยงกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสยามอย่างไร

ศาสตรจารย์ ดร.สุเนตร อธิบายว่า คติความเชื่อจักรพรรดิราชมีลักษณะเป็นสากล มีในหลายวัฒนธรรม คติจักรพรรดิราชนี้เป็นคติความเชื่อเรื่องการเป็นราชาที่เหนือราชาทั้งหลาย (King of King) ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นถ้าสังคมไม่พร้อมจะให้เกิด มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีราชาหลายองค์ในปริมณฑล หรือในพื้นที่ที่มีการการแข่งขันทางอำนาจ

มีคำต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคพื้นที่ที่มีความหมายสะท้อนถึงคติความเชื่อจักรพรรดิราชเช่นเดียวกัน อย่าง “เจงกีสข่าน” เป็นสมญานามที่หมายความว่า ราชาเหนือราชาทั้งหลาย เช่นกันกับที่โลกตะวันตกเองมีคำว่า Emperor ซึ่งมีความหมายว่า จักรพรรดิ

ประเทศไทยได้รับอิทธิพลคตินี้จากสามแหล่งด้วยกัน ได้แก่ อินเดีย เขมรโบราณ และลังกา ผสมผสานจนเกิดเป็นราชประเพณีที่มีลักษณะแบบไทย

การแสดงตนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชมีวิธีการแสดงออกอยู่หลัก ๆ สามประการ คือ แสดงผ่านพิธีกรรม ตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับพิธีบรมราชาภิเษกโดยตรง ประการที่สอง แสดงผ่านทรัพย์สมบัติที่พระเจ้าจักรพรรดิราชพึงครองซึ่งมีทั้งหมด 7 สิ่ง ที่โดดเด่นที่สุดของไทย คือช้างเผือก ประการที่สาม หากผู้แสดงตนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผ่านสองสิ่งข้างต้นมาได้แล้ว และต้องการให้หัวเมืองน้อยใหญ่สิโรราบต่อพระองค์ กษัตริย์ต้องใช้กำลังในการปราบปรามเพื่อเป็นเสมือนเครื่องมือในการขยายอำนาจนั่นเอง

พิธีบรมราชาภิเษกของไทยได้รับอิทธิพลโดยตรงจากพิธีราชสูยะของประเทศอินเดีย ในพิธีดังกล่าวจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นสื่อกลางแสดงถึงพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านจากตำแหน่งหนึ่งสู่อีกตำแหน่งหนึ่ง ในที่นี้ก็คือ การขึ้นเสวยราชเป็นพระมหากษัตริย์

หัวใจของพิธีบรมราชาภิเษกคือขั้นตอนที่เรียกว่า สรงมุรธาภิเษก คือการรดน้ำหรือราดน้ำจากศีรษะลงมา ระหว่างประกอบพิธีกษัตริย์จะทรงอาภรณ์สีขาวแสดงถึงความบริสุทธิ์ทั้งจากเครื่องอาภรณ์ และน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านพระองค์ลงมา จากนั้นจึงเสด็จพระดำเนินไปประทับบนพระที่นั่งไพศาลทักษิณ และเข้าไปประทับบนราชอาสน์ที่เรียกว่า พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์มีลักษณะ 8 เหลี่ยม 8 ทิศ อ้างอิงจากความเชื่อของกษัตริย์ในสมัยโบราณที่อ้างพระองค์เป็นจักรพรรดิ หากไม่อ้างว่ามีชัยใน 4 ทิศก็จะอ้างว่ามีชัยใน 8 ทิศ นัยของการนำน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์หลากหลายแห่งจึงเป็นการแสดงว่า พระองค์มีพระราชอำนาจเหนือพื้นที่ที่มีน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นราชาเหนือราชา เมื่อเข้ามานั่งในพระที่นั่งไพศาลทักษิณรับน้ำอภิเษกทั้ง 8 ทิศ ก็แสดงให้เห็นว่า พระองค์เป็นราชาเหนือทิศทั้ง 8 ด้วย

“ในความเห็นของผม คติเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิกับพิธีบรมราชาภิเษกสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกัน คตินี้ความหมายเริ่มเปลี่ยนไป เพราะความสำคัญของคตินี้เกี่ยวกับเรื่องของสถาบันฯ สถานะของกษัตริย์ที่บอกเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเริ่มเปลี่ยนไปเมื่ออิทธิพลตะวันตกเข้ามาพร้อมกับความคิดเรื่องพรมแดน” ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์กล่าว