คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก : เศวตฉัตร

เศวตฉัตร

คำว่า เศวตฉัตร แปลว่า ฉัตรขาว ใช้เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้น เมื่อกล่าวว่าชิงฉัตร จึงหมายถึงแย่งชิงแผ่นดินมาปกครอง ดังลิลิตเตลงพ่าย พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีร่ายว่า พระเจ้ากรุงหงษาวดีตรัสกับเหล่าอำมาตย์ว่ากรุงศรีอยุธยา“ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราช เยียววิวาทชิงฉัตร” นั่นคือ กรุงศรีอยุธยามีการผลัดแผ่นดินเปลี่ยนกษัตริย์ อาจมีการวิวาทแย่งชิงแผ่นดินมาปกครอง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเคยมีพระราชปุจฉาว่า เศวตฉัตรมีกี่ชั้น พระธรรมอุดมและพระพุทธโฆษาจารย์ได้ศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ มีเนื้อความต้องกัน เช่น มโนรถปุรณีอรรถกถา (มะ-โน-รด-ปุ-ระ-นี-อัด-ถะ-กะ-ถา) อังคุตรนิกาย (อัง-คุด-ตะ-ระ-นิ-กาย) ปัญจกนิบาต (ปัน-จะ-กะ-นิ-บาด) มีข้อความตอนหนึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ท่านจงเลงแลดูสิริสมบัติของเรา เรานอนเหนือที่สิริไสยาสน์ ภายใต้เศวตฉัตรเจ็ดชั้น” ดังนั้นท่านจึงถวายวิสัชนาว่า เศวตฉัตรสำหรับราชาภิเษกมี 7 ชั้น

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 9 นั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญฉัตร 9 ชั้นไปปักกั้นเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ (พัด-ทฺระ-บิด) แทนฉัตร 7 ชั้นที่มีมาแต่เดิม

 

ที่มาข้อมูล : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา