ต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม 4 ภารกิจ ยกกระดับศักดิ์ศรีให้สตรีด้อยโอกาส

      ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ของการพัฒนาอาคารชุดที่พักอาศัยของบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN ที่ไม่เพียงแต่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการภายใต้แบรนด์ “ลุมพินี” สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงใจเท่านั้น แต่ยังมีแนวคิดการดำเนินธุรกิจกับกิจการเพื่อสังคม เพื่อสร้าง “สังคมน่าอยู่” ด้วยบริการหลังการขายรวมถึงการบริการด้านความสะอาดด้วย ซึ่งจากกิจกรรมเหล่านี้เองทำให้บริษัทมีโอกาสสัมผัสและรับรู้ชีวิตของพนักงานบริการความสะอาดว่าส่วนใหญ่เป็นสตรีด้อยโอกาสในสังคม จึงเกิดนโยบายการยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานทำความสะอาดมาอย่างต่อเนื่อง

      เป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด ในปี 2554 ซึ่งเมื่อภาครัฐมีแนวทางชัดเจนในการสนับสนุนให้เกิดกิจการเพื่อสังคม จึงพัฒนามาเป็น บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือ LPC ซึ่งถือเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายแรกที่มีบริษัทในเครือได้รับการรับรองเป็นกิจการเพื่อสังคม จากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

      “สุรัสวดี ซื่อวาจา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือ LPC กล่าวในงานสัมมนาพิเศษหัวข้อ “หุ้นส่วนสร้างภูมิคุ้มกันสังคม ยกระดับชุมชนยั่งยืน” ในงานสัมมนา “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” ลดเหลื่อมล้ำ หนุนเศรษฐกิจฐานราก จากเหนือจดชายแดนใต้ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และมูลนิธิรากแก้ว โดยระบุว่า บริษัท LPC ไม่ได้มุ่งหวังกำไรจากการดำเนินธุรกิจเป็นหลัก แต่มุ่งหวังที่จะ “แก้ไขปัญหาสังคม” “LPC มีแนวทางชัดเจนในการดำเนินการด้าน CSR in Process ใน 2 มิติ คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ที่รวมถึงงานบริการความสะอาดและการบริหารขยะในชุมชน 

      ด้านที่สองคือ ด้านสังคม ที่มุ่งพัฒนา สร้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต และศักดิ์ศรีของสตรีและผู้ด้อยโอกาส ด้วยการส่งเสริมการศึกษาและแบ่งปันโอกาสในการทำงานให้กับหญิงด้อยโอกาสทางสังคม ให้มีอาชีพการงานที่มั่นคง หารายได้เกื้อหนุนคุณภาพชีวิตครอบครัว และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งกับตัวพนักงานและบุตรของพนักงาน การส่งเสริมวิชาชีพ เพื่อเป็นอาชีพติดตัวในกรณีที่ออกจากการเป็นพนักงานหรือเกษียณอายุในอนาคต

      สำหรับโมเดลการทำธุรกิจเพื่อสังคมของ LPC ที่ให้โอกาสผู้หญิงด้อยโอกาสได้มีงานทำ มีรายได้ เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองนั้น สุรัสวดี อธิบายว่า จากการสังเกตการณ์ทำงานของแม่บ้านในโครงการคอนโดมิเนียมของ LPN ทำให้เห็นว่าเขาไม่มีความสุข เป็นที่มาของการหาสาเหตุและหลังจากการเข้าไปพูดคุย สอบถาม จึงพบว่าส่วนใหญ่ด้อยโอกาสทางการศึกษา บางคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงไม่มีโอกาสพัฒนาตนเองในด้านอื่นๆ 

      โมเดลของ LPC เกิดจากปัญหาข้างต้น นำมาสู่กิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มสตรีด้อยโอกาสที่เข้ามาเป็นพนักงาน โดยแอลพีเอ็นเป็นผู้ลงทุนแต่ไม่ปันผลกำไรกลับมาที่บริษัท แต่ผลกำไรดังกล่าวจะปันกลับคืนไปสู่พนักงานแอลพีซี ในรูปแบบค่าจ้างและค่าตอบแทนที่สูงกว่า 

      โดย LPC ได้ดำเนินการมอบความสุขตามภารกิจ 4 สร้าง ได้แก่

      หนึ่ง สร้างการรายได้ ปัจจุบัน LPC มีพนักงานรวมกว่า 1,900 คน ส่วนใหญ่เป็นสตรีด้อยโอกาสที่การศึกษาน้อย มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวเพียงคนเดียว เคยถูกเอารัดเอาเปรียบจากการจ้างงาน เป็นผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเป็นผู้พิการ บริษัทจึงมีนโยบายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพนักงานกลุ่มนี้ ด้วยการเปิดโอกาสในการทำงานให้กับสตรีกลุ่มนี้เข้ามาเป็นพนักงานบริการชุมชน โดยแบ่งออกเป็น พนักงานบริการความสะอาด พนักงานต้อนรับชุมชน และพนักงานขับรถ ในรูปแบบค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ที่สูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำถึง 10% รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาของพนักงานและมอบทุนการศึกษาให้บุตร เพื่อแบ่งเบาภาระการศึกษาของบุตรที่มีผลการเรียนดีอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการฝึกทักษะวิชาชีพให้เป็นอาชีพเสริม เป็นงานที่เหมาะสมกับศักยภาพ และตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มรายได้ในวันหยุด อย่างเช่น การนวดแผนไทย และเปิดโอกาสการทำงานต่อ เมื่ออายุครบ 60 ปี

      โมเดลในการแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ จึงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการ “รักการออม” เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ LPC ต้องการจะสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับพนักงานอย่างยั่งยืน จัดให้มีเงินกู้โดยไม่คิดดอกเบี้ย ช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หรือการหาข้าวในราคาต้นทุนให้ 

      อย่างไรก็ตาม บริษัทอยากให้พนักงานสามารถแก้ปัญหาและยืนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งดีกว่าไหมหากพวกเขาจะมีเงินออม เพื่อที่อย่างน้อยเอาไว้แก้ปัญหาในยามเกิดเหตุฉุกเฉินได้ บริษัทจึงได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องของภูมิคุ้มกันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้ให้กับคนไทยมาเป็นแนวทาง โดยนำโมเดลการออมเงินของกองทุนการออมแห่งชาติ มาปรับให้เป็นรูปแบบของ LPC โดยให้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินทั่วไป เพื่อกระตุ้นให้พนักงานอยากออมและฝึกนิสัยการออม เมื่อถึงวันที่พวกเขาสร้างความแข็งแรงทางการเงินได้แล้วก็เท่ากับเขาได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองได้ดีขึ้น

      สอง สร้างโอกาส การศึกษาจะเพิ่มเกราะความแข็งแกร่งให้กับพนักงานของเราในทุกด้าน ความรู้นำไปสู่การสร้างรายได้ นำไปสู่การพัฒนาความเป็นอยู่ ตระหนักถึงการสร้างสุขภาพที่ดี การศึกษาเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีและเปิดโอกาสต่อยอดในการทำงานให้เขาได้เช่นกัน บริษัทจึงส่งเสริมการศึกษาให้แก่พนักงาน ตั้งแต่การฝึกให้อ่านออกเขียนได้ ด้วยการนำครูเข้าไปสอนตามคอนโดมเนียมของลุมพินีที่พนักงานประจำอยู่ที่โครงการนั้น ๆ ส่วนคนที่อ่านออกเขียนได้ บริษัทจัดส่งเข้าเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพื่อจัดการเรียนการสอนให้พนักงานตามระดับความรู้ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย 

      สาม สร้างศักดิ์ศรี ซึ่งเรามองว่าต้องสร้างจากภายนอก เข้ามาสู่ภายใน ทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกับเรา เขาคือ ผู้ร่วมงานเดียวกับเรา ที่นี่จึงมียูนิฟอร์มแบบเดียวกัน ที่ใส่ตั้งแต่ประธานบริษัทไปจนถึงแม่บ้าน เป็นสัญลักษณ์ของการเคารพซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างให้และรักษาซึ่งเกียรติของกันและกัน สิ่งต่างๆ ที่เราได้ ทั้งสวัสดิการต่างๆ โบนัส ทุกคนได้เท่าเทียมกัน ดีใจไปพร้อมๆ กัน

      สุดท้าย สร้างความสุข จากโมเดลทั้ง 3 ข้อข้างต้น จะช่วยให้พนักงานรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง เมื่อเขาภาคภูมิใจที่สามารถสร้างรายได้เพื่อดูแลครอบครัวแล้ว เมื่อได้รับโอกาสดีๆ ในการทำงาน พนักงานบริการทำความสะอาดของ LPC จึงอยากส่งต่อความดีกลับสู่สังคม ด้วยการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมจิตอาสาให้กับพื้นที่สาธารณะ ได้แก่ วัด ชุมชนรอบข้าง สถานีตำรวจ พร้อมทั้งทำความดีในรูปแบบต่างๆ อย่างการช่วยเหลือเจ้าของร่วมที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงอีกด้วย พร้อมกับสร้างกำลังสำคัญเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่งที่จะสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ซึ่งเป็นการสร้างความสุขทั้งสองฝั่ง สุขทั้งผู้ให้และผู้รับ 

      “เราเชื่อว่าเมื่อเรามอบสิ่งดีๆ ให้กับใคร เขาจะรับรู้และส่งต่อพลังความดีนั้นออกไป การที่เราได้ดูแลสตรีด้อยโอกาสกลุ่มนี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้เห็นเขาจับมือกันทำประโยชน์เพื่อสังคม จึงเป็นความภาคภูมิใจที่เราได้สร้างกำลังสำคัญเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่งที่จะสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม” สุรัสวดี กล่าว

      นับเป็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของผู้บริหารงานทุกระดับของ LPC ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร เพราะการศึกษาถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการพัฒนาความสามารถของตนเอง 

      หากผู้ประกอบการทุกแห่งมีมุมมองเช่นเดียวกับ LPC จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติเป็นอย่างมาก เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ