มาเลย์เเชมป์ตลาด “เกษตรอินทรีย์อาเซียน” ไทยตามหลัง ดัน “ข้าวหอมมะลิออแกนิก” ส่งออกยุโรป

วันที่ 28 กรกฎาคม 2560 ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จัดงาน Organic & Natural Expo 2017 หรือ ONE 2017 เพื่อเเสดงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านการผลิต การค้า เเละการบริโภคสินค้าออเเกนิกในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการเสวนา “การพัฒนาสินค้าอินทรีย์ในอาเซียน” ที่ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมเเห่งชาติสิริกิติ์

อินโดฯ ลุยตลาดเกษตรอินทรีย์ “โพสต์ขายสินค้าออแกนิกบนออนไลน์”

นายเซบาสเตียน สารากิห์ ประธาน indonesia Organic Alliance (IOA) เผยถึงมุมมองของภาคเอกชนที่มีต่อเกษตรอินทรีย์ (ออเเกนิก) ซึ่งในปี 2014-2015 ตลาดในอินโดนีเซียเติบโตเร็วมาก อีกทั้งยังมีกลุ่มเกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์ยังไม่เป็นสินค้ากลุ่มสำคัญของอินโดนีเซีย

“เรามีการลุยตลาดอินทรีย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โครงการตลาดวันอาทิตย์ ที่ให้ชุมชนต่างๆ นำสินค้าอินทรีย์เข้ามาขาย รวมไปถึงการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์” นายสารากิห์ กล่าว

เเละเป็นเวลากว่า 3 ปี ที่สินค้าอินทรีย์หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ “สินค้าออเเกนิก” ถูกวางขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในอินโดนีเซีย ซึ่งสินค้าเหล่านั้นได้รับการรับรองระดับนานาชาติ

“เงินสนับสนุนเป็นสิ่งจูงใจให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ การสนับสนุนดังกล่าวอาจทำให้บางกลุ่มเปลี่ยนมาทำ เเต่มันยังไม่มากพอ เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 3-5 เฮกเตอร์ ทำให้ต้องรวมพื้นที่เข้ากับเกษตรกรรายอื่นๆ จนกว่าจะพื้นที่จะมากพอเเละมีผลผลิตส่งออกได้” ประธาน IOA กล่าว อย่างไรก็ตามอุปสงค์ยังเป็นสิ่งสำคัญในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งยังต้องทำให้มีมากกว่าอุปทาน เพื่อราคาสินค้าจะได้ออกมาตามอย่างที่ผู้บริโภคพอใจ

ความลำบากของการ “รับรองสินค้าออเเกนิก” ในฟิลิปปินส์

นางสาว เกอรี่ ซาเมียนโต ผู้ประสานงานโครงการ Organic Producer&Trade Association Philippines, Inc. กล่าวถึงภาพรวมของสินค้าอินทรีย์ในฟิลิปปินส์ว่า กระทรวงเกษตรได้มีการจัดตั้งศูนย์การค้าเกษตรอินทรีย์จำนวน 13 เเห่งในประเทศ ซึ่งภาครัฐ ทั้งส่วนกลางเเละส่วนท้องถิ่นให้ความร่วมมือเเละสนับสนุน

ปัญหาที่พบในประเทศฟิลิปปินส์เป็นเรื่องสิทธิในการครอบครองที่ดินของเกษตรกร โดยบางส่วนไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน ส่งผลให้การค้าขายสินค้าเกษตรรวมไปถึงการผลิตไม่มีความต่อเนื่อง รวมไปถึงการจูงใจเกษตรกรที่ต้องคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้เป็นเพียงทางเลือกผ่านๆ เเต่เป็นจุดที่พร้อมเดินหน้าพัฒนาเกษตรอินทรีย์

“เกษตรกรในฟิลิปปินส์มีอายุราวๆ 56 ปี ปัจจุบันนั้นมีนักศึกษาจำนวนน้อยที่สนใจเรียนทางด้านเกษตร เเละตลาดในประเทศยังมีความขัดเเย้งเกี่ยวกับมุมมองของผู้บริโภค ถ้าเรามีพื้นที่วางจำหน่ายสินค้ามากขึ้นลูกค้าก็อาจเพิ่มขึ้นไปด้วย” ผู้ประสานงานโครงการ กล่าว

อีกทั้งการรับรองหรือขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าออเเกนิกในฟิลิปปินส์ยังคงเป็นเรื่องค่อนข้างลำบาก เกษตรกรต้องจ่ายเงินเพื่อขึ้นทะเบียนสินค้า โดยทั้งประเทศมีเพียง 1 เเห่งที่เป็นศูนย์ในการทำเรื่องรับรอง

นางสาวซาเมียนโต เล็งเห็นว่า “หากจะช่วยเกษตรกรควรมีการรับรองซึ่งกันเเละกัน ระหว่างรัฐเเละเกษตรกร โดยไม่ต้องคอยการขอขึ้นทะเบียนเเละเสียเงิน สิ่งเหล่านี้จะช่วยเกษตรกรโดยตรง ส่วนการเพิ่มพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องที่ดี เเต่ก็ต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ”

ไทยควรเริ่มเคารพเพื่อนบ้าน พัฒนาตลาดเกษตรอินทรีย์

นายวิฑูรย์ ปัญญากุล กรรมการสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เผยถึงเเนวคิดในการทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย เน้นไปที่การเป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อม ไม่ใช้สารเคมีในขั้นตอนการเพาะปลูก

โดยประเทศไทยนับว่ามีกำลังผลิตมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน สินค้าหลักๆ ที่ไทยส่งออกคือข้าวหอมมะลิออเเกนิก รวมไปถึงการพยายามปลูกกาเเฟ มะพร้าวเพื่อส่งออก เเละเกือบครึ่งของสินค้าออเเกนิกในไทยที่รับรองโดยองค์กรระดับชาติถูกส่งออกไปยังยุโรป แต่ตลาดประเทศไทยยังคงตามมาเลเซียที่มีฐานตลาดใหญ่กว่า

ด้านการส่งเสริมตลาดในระดับภูมิภาค นายวิฑูรย์เห็นว่า “เราควรเริ่มเคารพเพื่อนบ้าน ในไทยเราคิดเเค่ว่าเราทำได้ดีที่สุด มีสินค้าดี เเต่เรื่องเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มอาเซียนยังมีข้อมูลไม่มากพอ ต้องศึกษาเพื่อขยายตลาดส่งออก ที่สำคัญต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของภาคการเกษตรอินทรีย์ สิ่งเเวดล้อม รวมไปถึงคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ด้วย”

มาเลเซียเจาะกลุ่ม “ตลาดชั้นสูง” ดึงคนมีเงินซื้อสินค้า

นาย ออง คุง เหว่ย ผู้อำนวยการ Organic Alliance Malaysia (OAM) เล่าถึง ความท้าทายในการทำสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มาเลเซีย คือการติดฉลากเเสดงความเป็นออเเกนิก เเละการหาตลาดเฉพาะเพื่อขายสินค้า

ปัจจัยดังกล่าว ทำให้พุ่งเป้าไปที่ตลาดเฉพาะกลุ่ม เน้นไปที่กลุ่มคนมีเงิน แต่การจะทำให้คนกลุ่มนี้หันมาบริโภคยังคงเป็นเรื่องยากที่ต้องคิดทางเเก้ไขต่อไป

“ในอาเซียนทุกวันนี้เราขายสินค้าในระดับมาตรฐานของอียู ต้องดูว่ากำลังโตไปในทิศทางไหน การขอใบรับรองขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าออเเกนิกยังยาก ค่าใช้จ่ายสูง รัฐกับเอกชนควรจับมือกันในเรื่องของการออกใบรับรอง” ผู้อำนวยการ OAM กล่าว