สะท้อนภาพ 25 ปี “GMS” 6 ประเทศแม่น้ำโขง “ต้องเชื่อใจกันมากขึ้น”

ปี 2018 ถือเป็นการครบรอบ 25 ปี ของ “แผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ” (Greater Mekong Subregional-GMS) คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) จึงได้จัดสัมมนาถึงความก้าวหน้าและทิศทางอนาคต หลังจากช่วงที่ผ่านมา ในอนุภูมิภาคดังกล่าว ได้ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์เพื่อดันการเติบโตมหาศาล

GMS เป็นแผนงานความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงได้แก่ ไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (มณฑลยูนนาน) โดยในปี 2017 มีประชากรรวมราว 66.19 ล้านคน และเพิ่มขึ้น 0.5% ในทุกปี และจากการสำรวจในปี 2015 มีผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน 7.2%

โดย ADB ถือเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนการพัฒนาหลักในอนุภูมิภาคนี้กว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ จาก 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ฮิเดอะกิ อิวาซากิ” ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย ประจำประเทศไทยกล่าวว่า ADB มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการพัฒนา ทั้งในฐานะผู้สนับสนุนทางการเงิน และเป็นกระบอกเสียงในการพัฒนา ซึ่ง ADB มองว่า อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ยังมีโอกาสในการพัฒนาอีกมากในอนาคต

สิ่งที่ขาดหายใน GMS

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS กล่าวถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นตลอด 25 ปีของแผนงานว่า ความสำเร็จ เกิดขึ้นภายใต้ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ “ความเชื่อมโยง” “ความสามารถในการแข่งขัน” และ “ความเป็นชุมชน”

โดยตลอด 25 ปีที่ผ่านมา การรวมกลุ่มภายใต้ GMS ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน 10,000 กิโลเมตร ทางรถไฟ 500 กิโลเมตร และ 1 แสนครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ รวมทั้งบรรลุเป้าหมายการค้า 4.44 ล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุน 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ รายได้จากนักท่องเที่ยว 60 ล้านคน จำนวน 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการ สศช.ระบุว่าแผนงาน GMS ในวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การรวมตัวกันเป็นอนุภูมิภาค เพิ่มอำนาจในการต่อรองต่อชาติอื่นมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยไม่โดดเดี่ยว หรือเป็นใครก็ไม่รู้ ในสายตาเวทีโลก จึงสรุปได้ว่าการมีกรอบความร่วมมือที่ดี นำมาซึ่งการออกดอกออกผลที่ดี อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยังขาดหายไปในปัจจุบัน คือ “การติดตามผล” ในระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทบทวน

เอกชนชี้ปมความล่าช้า

ด้านความคิดเห็นในมุมมองเอกชน “ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา” รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะกรรมการ GMS-BD (Thailand) กล่าวว่า GMS เป็นกรอบความร่วมมือที่ช่วยสร้างซัพพลายเชนให้กว้างขึ้น เอกชนจึงได้ประโยชน์จากส่วนตรงนี้มาก

อย่างไรก็ตาม GMS ผ่านมา 25 ปี ถ้าถือว่าเป็นคน ก็คือแก่แล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาคาราคาซังบางอย่าง ที่ทำให้ตามโลกไม่ทัน เช่น โลกปัจจุบันทั้งใบเป็นดิจิทัลแล้ว แต่ในอนุภูมิภาคยังมีข้อพิพาท เปิดด่านชายแดนประเทศไม่สำเร็จอยู่เนือง ๆ

“ผมมองว่าในส่วนของ hard infrastructure เช่น ถนน ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้เกิดขึ้นเร็วมาก แต่ด้าน soft infrastructure เช่นจะทำยังไงให้ถนนเปิดวิ่งได้ การอนุมัติอะไรหลายอย่างไม่เดินหน้า หรือเดินหน้าช้ามาก พูดตรง ๆ ปัญหาส่วนหนึ่งคือเรายังไม่เชื่อใจกันมากพอ ระหว่างแต่ละประเทศ ยังระแวงกันมากเกินไป และนี่นำมาสู่อุปสรรคและความขัดแย้ง”

นอกจากนี้ ปณิธานยังแนะเพิ่มว่า GMS ควรเลิกคุยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแบบเก่า และต้องริเริ่มแกนกลางของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาสั่นคลอนทุกสถาบัน ยกตัวอย่างกรณี “บิตคอยน์” คริปโตเคอเรนซี่เขย่าโลก ที่ถูกพัฒนาล้ำหน้าโดยนักลงทุน และรัฐต้องไล่ตามกำกับ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องรับมือการเข้ามาของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกให้ทัน โดยเฉพาะการรับมือด้วยกลไกจากภาครัฐ

กูรูแนะเชื่อมโยงวัฒนธรรม

“ศ.ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์” ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะว่าการพัฒนาในอนาคต หากต้องการให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น แต่ละประเทศควรใส่ใจเรื่องการเชื่อมโยงด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมากขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ ก่อนที่พื้นที่บริเวณดังกล่าวจะเป็นรัฐชาติ การเดินทางไปมาหาสู่กันยังเป็นอิสระ แต่ละพื้นที่แม้จะมีวัฒนธรรมพื้นถิ่นแต่ก็มีการแลกเปลี่ยนถ่ายเทหากัน จึงมองว่า การเชื่อมโยงในส่วนนี้น่าจะช่วยให้มีความสนิทสนมกันมากขึ้น

นอกจากนี้ควรจับตาดูจีน ที่อยู่เหนือขึ้นไปทางเมียนมา และลาว เพราะปัจจุบันการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์เปลี่ยนไป ชาวจีนเข้ามายังประเทศไทย และพื้นที่ GMS มากขึ้น เนื่องจากช่องทางต่าง ๆ เปิดมากขึ้น และปัจจุบันชาวจีนถือว่ามีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าคนในกลุ่มประเทศ GMS ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในเวลาเดียวกัน