โครงการท่าเรือในฝัน

คอลัมน์ รู้จักอาเซียน

หนึ่งในโครงการใหญ่ของเวียดนามกับท่าเรือน้ำลึกบนเกาะห่อนควาย ห่างจากแผ่นดินใหญ่ประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัด ก่า มาว ทางตอนใต้สุดของประเทศ โครงการท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้รัฐบาลอนุมัติเมื่อปี 2558 ด้วยแผนการลงทุนกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์ มีบริษัทเบคเทลบริษัทสัญชาติสหรัฐเข้ามารับงาน และบริษัทเอ็นแอนด์เอ็มคอมโมดิตี้ส์จากออสเตรเลียเข้ามาร่วมวงขนาดของท่าเรือเกาะห่อนควาย จะมีท่าเทียบเรือขนสินค้าจำนวน 24 ท่า รองรับน้ำหนักเรือรวมสูงสุด 250,000 ดีดับเบิลยูที ทั้งการขนส่งถ่านหินป้อนโรงงานไฟฟ้า และขนถ่ายสินค้าทั่วไป

แต่ทุกวันนี้ ยังไม่เห็นความคืบหน้า จากแผนที่เคยวางไว้ว่าจะสร้างในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559

เวียดนามจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องสร้างท่าเรือ หากดูลักษณะประเทศซึ่งมีท่าเรือหลัก ๆ อยู่สามท่าด้วยกัน ประกอบด้วย ท่าเรือที่เมืองไห่ฟอง ทางตอนเหนือ ท่าเรือดาหนัง ตอนกลาง และท่าเรือโฮจิมินห์ หากโฟกัสแค่ทางตอนใต้หรือในโคชินไชน่า นอกจากท่าเรือโฮจิมินห์แล้ว ยังมีท่าเรือใกล้เคียงในที่ห่างออกไปไม่มากนักในจังหวัดบาเซย-หวุงเต่า

ในเวียดนามเอ็กซ์เพรสทำรายงานไว้ชิ้นหนึ่ง น่าสนใจที่ว่าท่าเรือในภาคใต้ ทั้งท่าเรือน้ำลึกและท่าเรือแม่น้ำ กระจัดกระจายและไม่เชื่อมต่อกัน ไม่มีศูนย์กลางโลจิสติกส์ ทำให้บรรดายี่ปั๊วใหญ่ ๆ ซื้อสินค้าและขนส่งได้ยาก ทำให้ราคาสินค้าในเวียดนามสูงกว่าชาติเพื่อนบ้านอาเซียน อย่างไทย หรือ มาเลเซีย

ขณะที่ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเก่อเทอระบุว่าบริเวณปากแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของเวียดนาม ผลิตข้าวได้ร้อยละ 80 เช่นเดียวกับการเพาะปลูกเก็บเกี่ยวพืชไร่ผลไม้ที่ร้อยละ 80 และทำประมงได้ร้อยละ 60 ซึ่งปกติสินค้าจะถูกนำเข้าไปในโฮจิมินห์ก่อนที่จะส่งออกสู่ทั่วโลก

ถ้าเวียดนามดำเนินท่าเรือนี้สำเร็จ เชื่อว่าจะช่วยเสริมภาคการส่งออกของเวียดนามได้มากขึ้น ประกอบกับเป็นจุดพักเรือที่มาจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ก่อนไปโหลดสินค้าลงที่แหลมฉบัง หรือสิงคโปร์ เช่นเดียวกับสินค้าที่มาจากไทยสามารถแวะที่ท่าเรือนี้ได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ขนมาทางถนนผ่านกัมพูชา โดยการขนส่งสินค้าส่วนใหญ่ของเวียดนามเน้นทางถนนเป็นหลักถึงร้อยละ 90

และหากโครงการ “คอคอดกระ” ในฝันของหลายคนสำเร็จ ก็จะเสริมท่าเรือในฝันของเวียดนามให้ลุล่วงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเรือขนสินค้าจะพุ่งทะลุตรงมาจากมหาสมุทรอินเดีย แวะท่าเรือห่อน ควาย จอดเติมเชื้อเพลิงกระจายสินค้าสู่ภาคใต้ของเวียดนาม หรือส่งสินค้าต่อไปยังพนมเปญ รวมถึงเข้าไทยผ่านจังหวัดตราดทางเส้นทางกัมพูชาตามเส้นทางอาร์ 10 และอาร์ 6 ของระเบียงเศรษฐกิจทางตอนใต้ (southern economic corridor) ก็ยังเหมือนฝันโครงการนี้แม้อนุมัติแล้ว ก็ยังไม่มีความคืบหน้า หรือ จะรอฝันคอคอดกระให้เกิดขึ้นก่อน