Ride-Sharing อาเซียน ยกถัดไป “Grab VS Go-Jek”

ตลาด ride-sharing เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไตรมาสแรกปี 2018 ถือได้ว่ามีความเคลื่อนไหว และการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตา โดยเฉพาะการประกาศควบรวมกิจการระหว่าง “แกร็บ” ซึ่งครองตลาดในอาเซียน และ “อูเบอร์” ride-sharing จากซานฟรานซิสโก ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นข่าวใหญ่สุดที่ทำให้วงการแพลตฟอร์มเรียกรถรับส่งสั่นสะเทือน ไม่ใช่แค่ในโลก

สตาร์ตอัพและผู้ใช้บริการเท่านั้น แต่ไปจนถึงภาครัฐ ที่ทางการหลายประเทศอาเซียน ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ รีบตั้งคณะกรรมการสอบสวนการซื้อ-ขายกิจการ ตรวจสอบว่าจะทำให้ความสามารถแข่งขันของระบบคมนาคมในประเทศลดลงหรือไม่ จนทำให้ต้องเบรกดีลดังกล่าวไปชั่วคราวก่อน

ดีลดังกล่าวถือเป็นแผนการถอนตัวออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอูเบอร์ เกิดขึ้นภายหลังจากการถอนตัวจากตลาดจีนได้ไม่เท่าไหร่นัก

ความเคลื่อนไหวของอูเบอร์ที่ล่าถอยจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหันไปโฟกัส “ตลาดอินเดีย” แทน เป็นส่วนหนึ่งของแผนเตรียมเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไป (IPO) ในปี 2019 อูเบอร์จำเป็นต้องตัดกิจการบางส่วนเพื่อหยุดการขาดทุนต่อเนื่อง และทำตัวเลขประเมินมูลค่าให้สวยงามอยู่ที่ 54,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากไตรมาสล่าสุดขาดทุน 741 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่บทวิเคราะห์พิเศษของ เดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อต้นสัปดาห์ ได้จับตาถึงอีกหนึ่งในผู้เล่นสำคัญของตลาด ride-sharing ในอาเซียน ซึ่งไม่ใช่เจ้าของแอปพลิเคชั่น แต่เป็นนักลงทุนรายใหญ่อย่าง “ซอฟต์แบงก์” ยักษ์สื่อสารจากญี่ปุ่น ภายใต้การกุมบังเหียนของ “มาซาโยชิ ซัน” ผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในญี่ปุ่น ที่โปรยเงินไล่รุกลงทุนในแทบทุกแพลตฟอร์ม ride-sharing ของโลกอย่างไม่หยุดหย่อน

ไม่ว่าจะเป็นอูเบอร์ ซึ่งซอฟต์แบงก์ถือหุ้นใหญ่ แกร็บ, ตีตี ชูซิ่ง จากจีน, โอลา จากอินเดีย หรือ 99 จากบราซิล ก็อยู่ภายใต้พอร์ตโฟลิโอซอฟต์แบงก์ทั้งสิ้น โดยที่มาซาโยชิ ซัน เคยบอกไว้ว่า “การเดินทางในโลกอนาคตของผู้คนจะเปลี่ยนไป และเขาไม่อยากจะพลาดโอกาสการลงทุนในวันนี้”

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า ผู้บริหารกองทุนซอฟต์แบงก์สนับสนุนแนวคิดอูเบอร์ที่จะถอนตัวจากตลาดจีนและอาเซียน และกลับไปลุยตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรป ละตินอเมริกา และออสเตรเลีย ที่น่าจะทำกำไรให้อูเบอร์เร็วกว่า และอาจจะเป็นหมากตาสำคัญต่อรายได้อนาคตของซอฟต์แบงก์ด้วย บทวิเคราะห์ของไฟแนนเชียล ไทม์ ระบุเอาไว้

อย่างมีนัยสำคัญว่า ซอฟต์แบงก์ในฐานะนักลงทุนที่มีอำนาจ กำลังทำตัวเป็น “lion tamer” หรือผู้ฝึกสิงโตให้เชื่องอยู่ ปัจจุบันเขาลงทุนในทุกแบรนด์ในมูลค่าไล่ ๆ กัน แต่หากในอนาคตซอฟต์แบงก์คิดจะทำให้การแข่งขันในตลาดลดลง “ผู้บริโภค” อาจจะกลับมาเป็นผู้แบกรับภาระค่าบริการที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นยังมีเรื่องน่าตื่นเต้นจะเกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ในไม่ช้า เดอะ สเตรต ไทม์ รายงานไม่นานมานี้ว่า “Go-Jek” แอป ride-sharing จากอินโดนีเซีย ซึ่งเมื่อต้นปี “กูเกิล” เพิ่งเข้ามาเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งเป็นยูนิคอร์นหนึ่งเดียวของประเทศที่มีประชากรกว่า 200 ล้านคน

กำลังจะก้าวขาออกนอกประเทศ ขยายสู่ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญของแกร็บ

Go-Jek เติบโตมาจากการให้บริการแอปจักรยานยนต์ และขยายสู่รถยนต์ ปัจจุบันบริการรับ-ส่งกว่า 25 ชนิด ทั้งอาหาร ของชำ ช็อปปิ้ง บริการทำความสะอาด นวด ทำผม ฯลฯ และมีความเชี่ยวชาญตลาดในเมืองที่ประชากรหนาแน่น ที่สำคัญค่าบริการถูกมาก

อาจถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของแกร็บ เพราะในอินโดนีเซียแกร็บเองก็ต้องพ่ายให้กับ Go-Jek ทั้งที่การตีตลาดของแกร็บ คือการแจกโปรโมชั่นอย่างหนักหน่วงในทุกประเทศที่เข้าไป เพื่อสร้างฐานผู้ใช้งานให้แข็งแกร่ง

ศึกถัดไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังอูเบอร์ยกธงขาว จึงอาจเป็น “แกร็บ VS Go-Jek” อย่างไม่ต้องสงสัย

ที่น่าสนใจ คือ Go-Jek จะงัดไพ่อะไรมาสู้กับแกร็บ เพื่อชิงความเป็นผู้นำในตลาดอาเซียน