เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง

คอลัมน์ รู้จักอาเซียน

โดย มัธธาณะ รอดยิ้ม

จากความเคลื่อนไหวในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นับแต่สภาร่างของมาเลเซียลงมติด้วย 128 ต่อ 80 รับการปรับเปลี่ยนเขตการเลือกตั้งที่มีคณะกรรมการเลือกตั้งมาเลเซียชงเรื่องขึ้นมา

ข้อมูลจาก เดอะมาเลเซียน อินไซต์ มองว่าที่สภารับร่างดังกล่าว เป็นความพยายามอีกเฮือกของแนวร่วมแห่งชาติ หรือบีเอ็น (Barisan Nasional-BN) ที่นำโดยพรรคอัมโนในการรับประกันชัยชนะเหนือแนวร่วมฝ่ายค้าน

และยังเป็นแผนการโกงการเลือกตั้งแบบเนียบเนียนที่สุดจากฝั่งรัฐบาล เพราะบทบาทของ กกต.มาเลเซีย ที่บรรดาคณะทำงานมาจากการชงเรื่องจากรัฐบาลทูลเกล้ากษัตริย์แห่งมาเลเซียทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง

จากนั้นก็ลากเส้นพื้นที่การเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ ชงให้รัฐสภาที่มีเสียงรัฐบาลข้างมากลงมติเห็นชอบ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะลงนามรับการเปลี่ยน คาดว่าแผนใหม่จะเอื้อให้รัฐบาลได้ที่นั่งเพิ่มถึง 3 ที่ ซึ่งเรื่องนี้พรรคฝ่ายค้าน รวมถึงแนวร่วมเบอร์ซิห์ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่โปร่งใส เรียกร้องมาโดยตลอด

ยังไม่นับการแบ่งสัดส่วนที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งมาเลเซียขึ้นชื่อมากในเรื่องนี้

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น พื้นที่ที่มีจำนวนประชากรมากควรมีจำนวน ส.ส.ให้ตรงกับสัดส่วนประชาชน แต่ความเป็นจริงคือบางพื้นที่มีประชากรเบาบาง กลับมีจำนวน ส.ส.เท่ากับพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตาคือ เรื่องการผ่านกฎหมายห้ามเสนอข่าวเท็จ ที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อไม่นานนี้ หลายฝ่ายมองว่าเป็นการเสริมอาวุธให้กับรัฐบาลไว้จัดการฝ่ายค้าน ซึ่งหากละเมิดต้องจำคุกสูงสุดถึง 6 ปี

แน่นอน รัฐบาลจะเอากฎหมายนี้มาเล่นงานฝ่ายค้าน หากมีการหาเสียงพาดพิงเรื่องอื้อฉาว อย่าง โครงการพัฒนา 1 เอ็มดีบี ที่ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีถูกโจมตีว่าโอนเงินหลายพันล้านเข้าบัญชีตัวเอง และท่านนายกฯ บอกปัดมาโดยตลอด

เสมือนว่ารัฐบาลของราซัก อยู่ในโหมดตั้งรับ พยายามไตร่ตรองทุกช่องเพื่อรักษาชัยชนะและอำนาจ ขณะที่ฝ่ายค้านก็รุกคืบเข้ามาทุกที ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นมากุมบังเหียนแนวร่วมแห่งความหวัง หรือพีเอช (Pakatan Harapan-PH) ของ นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด รัฐบุรุษและนายกรัฐมนตรียาวนาน 2 ทศวรรษ ที่มีอายุปาเข้าไป 93 ปีแล้ว

และการออกมาช่วยกันหาเสียงของบรรดาพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน ช่วงชิงความไวก้าวไปก่อนแนวร่วมรัฐบาล อาทิ ความเคลื่อนไหวของแกนนำพรรคดีเอพี อย่างนายลิม กิต เซียง ลงพื้นที่รัฐเกดะห์ หาเสียงช่วยพรรคพันธมิตรในแนวร่วม

ไม่แน่ว่าการเลือกตั้งรอบนี้อาจเห็นความเปลี่ยนแปลงในการเมืองมาเลเซีย และไม่แน่อาจจะมีแรงกระทบถึงประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มากก็น้อย