สตาร์ตอัพ “อิเหนา” เนื้อหอม ดูดเงินลงทุนต่างชาติพุ่งเท่าตัว

แม้ว่าก่อนหน้านี้ “อินโดนีเซีย” ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประชากรกว่า 260 ล้านคน จะถูกมองว่า เริ่มเข้าใกล้ภาวะ “ฟองสบู่สตาร์ตอัพ” หลังจากที่มีการระดมทุนด้านสตาร์ตอัพเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องภายในประเทศ เพื่อหวังสร้าง”ยูนิคอร์น” หรือสตาร์ตอัพที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไป ๆมา ๆ ก็ยังไม่เห็นผลลัพธ์หรือถึงฝั่งฝันนัก

แต่ปัจจุบันทิศทางเริ่มสดใสขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมา นักลงทุนรายใหญ่ในประเทศ ทั้งจากเครือบริษัท ธนาคาร ภาคเอกชน ประกอบกับนักลงทุนด้านเทคโนโลยีจากจีน เข้ามาใส่เงินลงทุนต่อชีวิตสร้างความเชื่อมั่นให้บรรดาสตาร์ตอัพ

เป็นข้อเท็จจริงที่น่าชื่นใจ เมื่อในปี 2017 อินโดนีเซียมีเงินลงทุนจากต่างชาติ (FDI) เข้ามาลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีรวมกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นมหาศาลจากปีก่อนหน้า ที่มีเพียง 128 ล้านเหรียญเท่านั้น และเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในภาคไอที ส่งให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติโดยรวมของอินโดฯในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว มาอยู่ที่ 6.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า เป็นครั้งแรกที่ทิศทางการลงทุนจากต่างประเทศของอินโดนีเซียเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ก่อนหน้านี้ การลงทุนหลักมักจะอยู่ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ พลังงาน และเกษตรกรรม แต่ปัจจุบัน เม็ดเงินลงทุนวิ่งไปยังแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคอยู่

“การลงทุนด้านทรัพยากรไม่ได้รับความสนใจมากเท่าเดิมแล้ว ขณะที่การลงทุนด้านผู้บริโภค มีการเพิ่มขึ้นอย่างมาก” Suvir Varma หัวหน้ากองทุนของ Bain & Co. กล่าว

“แอสตร้า อินเตอร์เนชั่นแนล” เครือบริษัทขนาดใหญ่ของอินโดฯ ได้ลงทุนใน “Go-Jek” แพลตฟอร์มให้บริการรถร่วม (ไรด์แชริ่ง) สตาร์ตอัพยูนิคอร์นอันดับ 1 ของอินโดนีเซีย ราว 150 ล้านเหรียญเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เช่นกันกับ “Salim Group” ยักษ์ธุรกิจของอิเหนาอีกราย ก็มารุกลงทุนในสตาร์ตอัพด้านอีคอมเมิร์ซ

ขณะที่ยักษ์ต่างชาติก็พาเหรดเข้ามามีบทบาทในธุรกิจเทคโนโลยีของอิเหนามากขึ้น โดยมี “Go-Jek” เป็นตัวดึงดูดสำคัญ ที่ได้รับการลงทุนจาก “เทนเซนต์” บริษัทเทคโนโลยีอันดับ 1 ของจีนราว 150 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปลายปีก่อน และเมื่อต้นปีนี้ “กูเกิล” ยักษ์เสิร์ชเอ็นจิ้นโลก และ “กองทุนเทมาเส็ก” รวมถึง “Meituan Dianping” เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซจีน มองเห็นโอกาสเติบโตร่วมใส่เงินลงทุน “Go-Jek” มากกว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

และเป็นการลงทุนด้านไรด์แชริ่งครั้งแรกของกูเกิล ส่งผลให้มูลค่าของกิจการ หลังการระดมทุนล่าสุดของ Go-Jek อยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้าน “อาลีบาบา” ของเจ้าพ่อ “แจ็ก หม่า” ก็มองเห็นโอกาสในอินโดนีเซียเช่นกัน เพราะปลายปีก่อน อาลีบาบาก็ได้เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ใน “Tokopedia” แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซระดับแถวหน้าของอินโดนีเซีย ด้วยมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนักลงทุนจากจีนแล้ว “Saratoga” บริษัทเพื่อการลงทุนรายใหญ่ของนิวยอร์ก รวมถึงบริษัทเอกชนต่างชาติอื่น ๆ จากที่เน้นลงทุนในอุตสาหกรรมดั้งเดิม ก็หันมาลงทุนในสตาร์ตอัพมากขึ้น

“Aston Goad” ผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนของ Hogan Lovell ในกรุงจาการ์ตา ให้ความเห็นว่า ทิศทางการลงทุนในอินโดนีเซียทุกวันนี้เปลี่ยนไป แสดงให้เห็นถึงการลงทุนสำหรับคนในเจเนอเรชั่นใหม่ที่กำลังเติบโต และธรรมชาติของคนกลุ่มนี้มีความสนใจด้านเทคโนโลยี

ฤๅยุคทองของอินโดนีเซียกำลังจะมาถึง เพราะล่าสุด “มูดีส์อินเวสเตอร์ เซอร์วิส” บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ของโลก

ได้ปรับเพิ่มแนวโน้มความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของอินโดฯ จาก”เชิงลบ” เป็น “มีเสถียรภาพ” เนื่องจากรัฐบาลสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความยืดหยุ่น ดึงดูดใจนักลงทุน

ภายนอกประเทศมากขึ้น สอดคล้องกับรายงานวิเคราะห์ของ “สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์” ที่ระบุว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียมีเครดิตอยู่ในระดับ “น่าลงทุน” ซึ่งถือว่าเป็นการจัดอันดับที่เป็นผลดีต่อรัฐบาล “โจโก วิโดโด” ที่จะเข้ารับการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าอย่างยิ่ง