ยกระดับต้าน “เขื่อนลุ่มน้ำโขง” ยื่นถกเวที 50 ปีอาเซียน

ปัจจุบันรัฐบาล สปป.ลาวพยายามผลักดันและพัฒนาประเทศในด้านไฟฟ้าอย่างหนัก โดยตั้งเป้าให้ สปป.ลาวเป็น “แบตเตอรี่เอเชีย” ทั้งยังประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ภายในปี 2021 สปป.ลาวจะมีเขื่อนไฟฟ้ามากถึง 100 แห่ง และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 67,000 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง อันเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนมากขึ้น รวมถึงนักลงทุนจากประเทศไทย

ขณะที่ “ภาคประชาชน” ชาวลุ่มน้ำโขงที่อาศัยอยู่ดั้งเดิม โดยเฉพาะชาวลาวที่พยายามคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังจะได้รับการแก้ไขจากปัญหาระบบนิเวศที่เริ่มเสื่อมมากขึ้น โดยภาคประชาชนได้มีการเสนอให้หาทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้กับรัฐบาลหลายสมัย แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับเลย

สำนักข่าว วีโอเอ ภาษาลาว รายงานว่า นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย แสดงความกังวลว่า “การลงทุนของนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาว ที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้า อันเนื่องจากนโยบายเปิดกว้างของรัฐบาล สปป.ลาว ในขณะที่ประชาชนชาวลาวไม่สามารถเรียกร้องหรือคัดค้านได้ เพราะระบบการปกครองของประเทศเป็นแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ คือ เสียงเด็ดขาดมาจากรัฐบาลเท่านั้น”

“ปัจจัยที่ทำให้นักธุรกิจไทยเบนเข็มลงทุนในภาคการผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาวมากขึ้น เนื่องจากโครงการก่อสร้างไฟฟ้าในประเทศไทยจำนวนมากที่ถูกประชาชนท้องถิ่น และองค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสากลคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะเมกะโปรเจ็กต์ ไม่ว่าจะเป็นการคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ถ่านหิน และนิวเคลียร์ เป็นต้น ทำให้หลายโครงการไม่สามารถดำเนินการได้ นักลงทุนไทยจึงย้ายมาที่ สปป.ลาว โดยมีปัจจัยเสริมก็คือ รัฐบาล สปป.ลาวให้การสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนเป็นอย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนแต่อย่างใด”

ทั้งนี้ไม่เพียง สปป.ลาว เท่านั้นที่มีโครงการก่อสร้างไฟฟ้าบนลุ่มแม่น้ำโขง จีนและกัมพูชาก็มีโครงการก่อสร้างเช่นเดียวกัน นักวิเคราะห์ด้านสิทธิมนุษยชนศูนย์วิจัยปลาของโลก (WorldFish Center) ระบุว่า ปัจจุบันโครงการก่อสร้างผลิตไฟฟ้าบนลุ่มแม่น้ำโขงมีทั้งหมด 19 แห่ง เป็นโครงการของ สปป.ลาว 9 โครงการ (ก่อสร้างเสร็จ 3 โครงการ) มณฑลยูนนานของจีน 8 โครงการ (ก่อสร้างเสร็จ 5 โครงการ) และกัมพูชา 2 โครงการ

โครงการก่อสร้างของ สปป.ลาว ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 แห่ง ได้แก่ โครงการเขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรี คืบหน้าแล้ว 84% และเขื่อนดอนสะหง คืบหน้า 31% ซึ่งรัฐบาลคาดว่าทั้งสองโครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 2019 ส่วนเขื่อนปากแบง อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในขั้นตอนสุดท้าย และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้


นายเสรี นนทสูติ ผู้แทนประเทศไทย ในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ผลกระทบของโครงการก่อสร้างเขื่อนบนลุ่มแม่น้ำโขงเป็นปัญหาใหญ่ที่จะคอยกัดกินความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และจะส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวลุ่มน้ำโขงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข

ดังนั้นจึงมีการบรรจุปัญหาดังกล่าวเป็นวาระสำคัญในที่ประชุมปรึกษาหารือด้านสิทธิมนุษยชน ระหว่างวันที่ 4-8 ส.ค.นี้ ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในโอกาสครบรอบก่อตั้งอาเซียน 50 ปี โดยจะเสนอปัญหาและผลกระทบเพื่อให้สมาชิกอาเซียนได้หารือร่วมกัน ซึ่งจะมีรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย

วาระการประชุมครั้งนี้ ประเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างจะต้องรับข้อเรียกร้องเพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขโครงการ เพื่อไม่ให้โครงการก่อสร้างทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโดยตรง รวมไปถึงประชาชนผู้ที่อาศัยดั้งเดิมจะต้องไม่ได้รับความเดือดร้อนใด ๆ

นอกจากนี้รายงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติกัมพูชา ได้แสดงข้อกังวลต่อแม่น้ำโขงเช่นกัน โดยระบุว่า การสูญเสียด้านประมงในลุ่มแม่น้ำโขงแม้จะเพียงเปอร์เซ็นต์น้อยนิด แต่หมายถึงปลาจำนวนนับพันตันและรายได้หลายล้านดอลลาร์ที่ได้จากการประมง ทั้งยังหมายถึงการคุกคามด้านความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของประชาชนผู้มีวิถีชีวิตพึ่งพาแม่น้ำโขง


แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ เป็นทรัพยากรสาธารณะร่วมกันของชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง การละเลยการพิจารณาผลประโยชน์ร่วมกัน และการตัดสินใจใด ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อแม่น้ำและชุมชนในลุ่มแม่น้ำโขง เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และปัญหาดังกล่าวจะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาหารือร่วมกันจนกว่าจะหาทางออกที่ดีที่สุดได้