คิกออฟ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ผู้ผลิตอินโดฯ เปิดฉากสู้ญี่ปุ่น ดึงกลับส่วนแบ่งตลาดในประเทศ

จาการ์ต้าโพสต์รายงานว่า ไทรแองเกิล มอเตอร์อินโด ผู้ผลิตจักรยานยนต์รายใหญ่ในอินโดนีเซีย เปิดตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าคันแรกบนท้องถนน เพื่อขายตลาดในประเทศ โดยพัฒนาเทคโนโลยีสกู๊ตเตอร์ร่วมกับบริษัทอะไหล่ยานยนต์สัญชาติเยอรมันที่ผลิต “โรเบิร์ต บ๊อช” และมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย

แนวโน้มความต้องการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีอัตราสูงขึ้นทุกปีท่ามกลางความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกมาตรการควบคุมขั้นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ก่อให้เกิดมลพิษในเมืองใหญ่อย่างจาการ์ต้า

ด้านบ๊อช ซึ่งเป็นผู้จัดหามอเตอร์และชิ้นส่วนอื่นสำหรับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ารุ่น “Viar Q1” ระบุว่า รถคันนี้สามารถวิ่งได้ถึง 70 กิโลเมตรในการชาร์จเพียงหนึ่งครั้ง ด้วยความเร็วในการวิ่งที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สกู๊ตเตอร์ใช้ระยะเวลาชาร์ตประมาณ 5-7 ชั่วโมงด้วยการเสียบปลั๊กไฟจากบ้าน ทั้งนี้ เครื่องยนต์มีความเงียบและไร้การปล่อยมลพิษจากท่อไอเสีย นอกจากนี้ในส่วนการออกแบบยังคำนึงถึงแอ่งน้ำที่มีทั่วทั้งอินโดนีเซียหลังน้ำท่วม

ราคาสกู๊ตเตอร์นี้เปิดตัวที่ประมาณ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับราคารถตัวท๊อปสองค่ายดังจากญี่ปุ่น “ฮอนด้า มอเตอร์” และ “ยามาฮ่า มอเตอร์” ซึ่งขายในตลาดอินโดนีเซีย

ตลาดในประเทศขยายตัว

ไทรแองเกิล มอเตอร์อินโด ก่อตั้งในปี 2000 และจำหน่ายรถจักรยานยนต์ภายใต้แบรนด์ “Viar” โดยรถสามล้อมาพร้อมกับชั้นวางสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่นิยมของร้านค้าปลีกทั่วทั้งอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ บริษัทมีโรงงานขนาดใหญ่ในเซอมารัง เมืองใหญ่ในจังหวัดชวาเตงกะห์ แต่ต้องเผชิญกับคู่แข่งจากญี่ปุ่น ซึ่งกินส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 90% เนื่องจากเครือข่ายการขายของไทรแองเกิลไม่แข็งแรงในเมืองหลวงอย่างจาการ์ต้า ยอดขายรถรุ่น Q1 ในแต่ละเดือนจึงยังต่ำอยู่มาก

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการยกเครื่องการตลาดใหม่นี้ โดยการสร้างการขายผ่านออนไลน์ ซึ่งร่วมมือกับดีลเลอร์พิเศษ และสร้างนวัตกรรมรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่างบ๊อชและบริษัทอื่น ทั้งนี้ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างรถสกู๊ตเตอร์สองล้อกับสมาร์ทโฟนในอนาคต

แม้ว่าบริษัทคู่แข่งของไทรแองเกิลจำนวนมากต่างประกาศแผนการขายสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย แต่ก็ยังไม่ได้มีการรับรองให้ใช้งานจริงบนถนนสาธารณะ ดังนั้น Q1 จึงถือเป็นรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าคันแรกที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการสำหรับการขับขี่จริงบนท้องถนน

การอนุมัตินี้ส่งผลให้ยอดขาย Q1 พุ่งสูงขึ้น โดยที่รัฐบาลเล็งเห็นว่าเป็นการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เลือกซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งการเก็บภาษียานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนไทรแองเกิลเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยให้ตนได้ส่วนแบ่งทางการตลาดจากบริษัทญี่ปุ่นกลับมา

ในอินโดนีเซียมียอดขายรถจักรยานยนต์กว่าปีละ 6 ล้านคัน ทำให้อินโดนีเซียเป็นตลาดมอเตอร์ไซต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม การเติบโตชะลอลงในหลายปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ฝีดเคืองและการมาของเทคโนโลยีที่ทำให้ยานพาหนะมีราคาถูกลง เหลือเพียงประมาณ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคัน