ตลอดกว่า 2 ปีภายใต้การบริหารประเทศของ “ออง ซาน ซู จี” ซึ่งเคยติดโผเป็นผู้นำที่มีผลงานยอดแย่ โดยเฉพาะทิศทางการยกระดับเศรษฐกิจเมียนมาที่คลุมเครือ แต่หนึ่งในการปฏิรูปที่เรียกว่าเป็น “ผลงานชิ้นโบแดง” ก็คือการปฏิรูประบบขนส่งมวลชนใน “นครย่างกุ้ง” โดยวางเป้าระยะยาวสู่การเป็นเมืองดิจิทัล
เดอะ อิรวดี รายงานว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2017 รัฐบาลกลางที่นางออง ซาน ซู จี บริหารงานโดยพฤตินัยประกาศยกเครื่อง “ระบบขนส่งมวลชน” ในนครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองที่แออัด และมีประชากรหนาแน่นมากที่สุดของประเทศ
โดยวางแนวนโยบายปฏิรูปเริ่มจากการยกระดับรถประจำทางที่มีกว่า 4,000 คัน ซึ่งมากกว่าครึ่งมีอายุการใช้งานกว่า 20 ปี ปรับเปลี่ยนเป็นรถประจำทางรุ่นใหม่ที่ทันสมัย ภายใต้ชื่อโครงการ New Yangon Bus System หรือรถบัส YBS ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลย่างกุ้งได้เพิ่มรถประจำทางรุ่นใหม่ทั้งหมด 5,300 คันทั้งได้ปรับลดเส้นทางรถประจำทางจากทั้งหมดกว่า 300 สาย ให้เหลือเพียง 70 สาย เพื่อลดปัญหาทับซ้อนเส้นทาง แต่ยังครอบคลุมการให้บริการอย่างทั่วถึงเช่นเดิม เพื่อแก้ไขการจราจรที่ติดขัดอย่างหนักมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหารเต็ง เส่ง
ขณะที่ นายเพียว มิน เต่ง รัฐมนตรีประจำนครย่างกุ้ง กล่าวกับเมียนมาไทมส์ระบุว่า รถประจำทางรุ่นใหม่ถูกปรับให้เป็นระบบชำระเงินด้วยตัวเอง โดยจะไม่มีพนักงานเก็บเงิน
อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งรถประจำทางนครย่างกุ้ง (YRTA)เปิดเผยว่า ปัญหาสำคัญที่ได้รับเรื่องร้องเรียนในหลายกรณี โดยกว่า 50% ของรถโดยสารพบปัญหา ธนบัตรฉีกขาดชำรุดและใช้ธนบัตรปลอมในการชำระเงิน รวมถึงการชำระค่าโดยสารไม่ครบ อีกทั้งเมียนมาเริ่มประสบปัญหาธนบัตรขาดแคลน ซึ่งเป็นปัญหาที่ลากยาวมาจากปัญหาธนบัตรปลอมที่มากขึ้น
ทั้งนี้ การประชุม “Yangon Investment Forum 2018” เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีประจำนครย่างกุ้งกล่าวว่า รัฐบาลย่างกุ้งกำลังวางแผนที่จะเปิดใช้ระบบชำระค่าโดยสารผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ “Yangon Payment Services” (YPS) แทนการชำระด้วยเงินสด โดยตั้งเป้าจะพร้อมเปิดใช้งานในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเลือกบริษัทเข้ามาดำเนินการ ระหว่าง Anypay Payment Services และ Asia Starmar Transport Intelligent ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติที่สนใจเข้ามาร่วมพัฒนากับบริษัทท้องถิ่น เพื่อต่อยอดแผนการชำระเงินผ่านบัตรดังกล่าวให้เร็วขึ้น
“การเปิดใช้บัตร YPS จะเริ่มต้นด้วยการชำระค่าโดยสารรถประจำทางก่อน เพราะการใช้บัตรแทนเงินสด เพื่อชำระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อาจต้องใช้เวลาเจรจากับธนาคารทั้ง 23 แห่งทั่วประเทศ ทั้งยังมีขั้นตอนที่ซับซ้อน”
โดยการศึกษาเบื้องต้นก็คือ การเจรจาเพื่อผูกฐานข้อมูลของลูกค้าผู้ถือบัตรชาวเมียนมา ตั้งแต่บัตรเอทีเอ็ม บัตรวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด เพื่อความสะดวกสบาย สามารถใช้จ่ายได้ใน “บัตรเดียวจบ”
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากธนาคารแห่งหนึ่งของเมียนมามองว่า นอกจากการปฏิรูประบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพแล้ว หากการใช้จ่ายผ่านบัตร YPS ประสบความสำเร็จ เชื่อว่ารัฐบาลท้องถิ่นเมืองอื่น ๆ จะสามารถปฏิบัติตาม “ย่างกุ้งโมเดล” ได้เพื่อยกระดับสังคมและเติบโตไปพร้อม ๆ กันทั้งประเทศ
โดยเมืองที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อไปก็คือ เมืองหลวงเนย์ปีดอว์ เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองพุกาม เป็นต้น เนื่องจากเป็นจุดหมายปลายทางลำดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยว
“หากเมืองนำร่องย่างกุ้งสำเร็จ นอกจากจะเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชน รัฐบาลยังสามารถประกาศจุดยืนได้ว่า เมียนมาสามารถพัฒนาประเทศสู่สังคมดิจิทัลได้อีกระดับ อีกทั้งยังสร้างข้อได้เปรียบดึงดูดภาคการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นด้วย” นักวิเคราะห์กล่าว
ขณะเดียวกัน สมาคมการท่องเที่ยวเมียนมาระบุว่า การสร้างรากฐานที่ดีให้กับโครงสร้างพื้นฐาน และระบบขนส่งมวลชน เป็นปัจจัยเด่นที่สุดในการดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ความสะดวกสบายจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในย่างกุ้งได้อีก 1 หรือ 2 เท่าตัว
ทั้งนี้ ในระหว่างแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน รัฐมนตรีเขตย่างกุ้งกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการยกระดับระบบจัดเก็บค่าโดยสารรถประจำทางเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานขับรถด้วยการจัดสรรให้ได้รับสวัสดิการมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาพนักงานขับรถจะได้รับค่าจ้างแรงงานเป็นรายเที่ยว จึงทำให้พนักงานแต่ละคนนั้นต้องขับรถอย่างเร่งรีบ เพื่อทำรอบให้มากขึ้นแลกกับรายได้ที่มากขึ้นตาม เป็นเหตุให้เกิดความประมาทและอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง