เปิดมุมมอง “โอกาส” ในอาเซียน ผ่านเวที ASEAN Business Summit

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ระดับโลก “อาเซียน” ถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่กำลังเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ การประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจในอาเซียนของบลูมเบิร์ก (Bloomberg ASEAN Business Summit) ที่จัดร่วมกับธนาคารกรุงเทพ ถือเป็นเวทีสำคัญที่ช่วยผลักดันหาโอกาสใหม่ ๆ ในอนาคต ผ่านมุมมองหลายอุตสาหกรรม

“ไทย” โอกาสใหม่ของอาเซียน

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดประชุมในหัวข้อ “The Future of Thailand” ว่า รัฐบาลไทยพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจและปฏิรูปประเทศ ด้วยยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และ “อีอีซี” หรือเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโครงการอีอีซีคืบหน้ามาก และทำให้ไทย

กลายเป็น “โอกาสใหม่” ของการลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การพัฒนาท่าเรือ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

“ปีนี้เป็นปีแห่งการสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาลไทยที่เอาจริงกับเมกะโปรเจ็กต์ ปีหน้าจะเห็นผลลัพธ์ชัดเจนขึ้น”

ทิศทางของอีอีซีที่มุ่งสู่อุตสาหกรรมใหม่และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและเอสเอ็มอีให้เข้มแข็งและยั่งยืนได้ “ไทย” จะเชื่อมต่อนโยบายทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน รวมถึงชาติผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกอย่างญี่ปุ่น จีน และประเทศอื่น ๆ ที่มีนโยบายมุ่งสู่อาเซียนที่เป็นตลาดใหม่ ไทยจึงเป็นประเทศแห่งโอกาสสำคัญ

“ไทยโมเดล” ฮับ CLMV

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ “Developing a Financial System for the Future” ว่า เราอยู่ในโลกแห่งความผันผวน ไร้เสถียรภาพ ซับซ้อน เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทั้งสภาวะระดับหนี้ครัวเรือนในหลายประเทศอยู่ในระดับสูง รวมทั้งประเทศไทย และความเสี่ยงจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ประเด็นสังคมผู้สูงอายุ และความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ล้วนส่งผลให้เกิดความท้าทายเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่น่าจับตา

การรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ธปท.จะพยายามรักษาเสถียรภาพและพัฒนาระบบทางการเงิน เพื่อปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยให้มีประสิทธิภาพ โดยมองว่ารูปแบบการบริหารจัดการของไทยสามารถนำไปปรับใช้กับ CLMV หรือกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ในการเป็นฮับในฐานะผู้นำระบบการเงินที่มีศักยภาพ

“ระบบการเงิน” มีหัวใจสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.ใช้เทคโนโลยีสร้างผลิตผล 2.เพิ่มภูมิคุ้มกันที่มีเสถียรภาพ เป็นกันชนรองรับ และ 3.ให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากรายได้ต่ำ ซึ่ง ธปท.ร่วมกับภาครัฐและธุรกิจสร้างระบบโอนเงินรูปแบบใหม่ (พร้อมเพย์) ที่ช่วยลดต้นทุนด้วย

เศรษฐกิจไทยมีเครื่องมือรองรับความท้าทายทั้งเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ มีมูลค่าสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.5 เท่า ไทยก็พึ่งพาเงินกู้นอกประเทศในระดับต่ำ มีตัวเลขได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัด 8-9% ของจีดีพี

ธปท.ภาคธุรกิจและธนาคารพาณิชย์ เห็นศักยภาพการเชื่อมโยงในตลาดการเงินและห่วงโซ่ซัพพลายเชน โดย ธปท.ร่วมกับธนาคารกลางของประเทศในภูมิภาค ด้วยนโยบายใช้เงินสกุลท้องถิ่น เริ่มจากสกุลเงินริงกิตมาเลเซีย รูเปียห์ อินโดนีเซีย เพื่อให้ธุรกรรมทางการค้าในอาเซียนเติบโตขึ้นทั้งยังส่งเสริมให้ธนาคารในอาเซียนไปลงทุนประเทศอื่นได้สะดวก ผ่านการจัดตั้ง Qualified ASEAN Banks (QAB) เพื่อช่วยภาคธนาคารในอาเซียนให้เข้าไปทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น

“ปัจจุบันมีความคืบหน้ากับมาเลเซียเรื่อง QAB และยังร่วมกับประเทศอาเซียนพัฒนาระบบป้องกันภัยไซเบอร์ แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเตือนสถาบันการเงินด้วยกัน โดยส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น แอปพลิเคชั่นที่แต่ละธนาคารพัฒนา”

ธนาคารไทยพร้อมหนุน

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพกล่าวว่า การผนึกกำลังในภูมิภาคจะทำให้เราเติบโตแข็งแกร่งยั่งยืน รับมือความเสี่ยงได้ดี เราพร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจและนักธุรกิจอาเซียนในไทยให้เข้าถึงโอกาสที่เปิดกว้าง

อาเซียนสดใสที่สุด

ภาพรวมการลงทุนครึ่งปีหลังปี 2018 ในหัวข้อ “The Year Ahead for Investing” โดย “ถื่อ เหงียน” ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร Forum One-VCG Partners Vietnam Fund บริหารจัดการโดย Vina Capital Group กล่าวว่า การลงทุนในอาเซียนรวมถึงเวียดนามยังคงโดดเด่น โดยอาเซียนให้ความสำคัญกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

อาเซียนคือกลุ่มเศรษฐกิจแห่งโอกาสในปัจจุบันและอนาคต แม้จะเกิดข้อพิพาททะเลจีนใต้ สงครามการค้า เราต้องร่วมหารือตั้งรับกับความท้าทาย “เวียดนาม” เป็นหนึ่งในเป้าหมายของนักลงทุนจีน ทั้งยังต้องพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากจีน ทางออกอย่างสันติวิธีในข้อพิพาทจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี

Middle Class ปรับทิศธุรกิจ

ดร.ลาแวนยา วาดกาออนการ์ รองประธานฝ่ายการสื่อสารในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียของนิสสันกล่าวว่า ตลาดที่มีผู้บริโภคเติบโตเร็วจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุด เช่น อาเซียนเป็นกลุ่มที่มี Gen ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน สิ่งเหล่านี้คือกลยุทธ์ที่เราต้องปรับตัวเพื่อคว้าโอกาส ตัวอย่าง เมื่อก่อนผู้บริโภคอยากซื้อรถก็ต้องไปที่โชว์รูม แต่ตอนนี้ข้อมูลได้ย้ายมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว พฤติกรรม Gen ใหม่จึงมีผลต่อธุรกิจเหล่านี้

หลายประเทศในอาเซียนโดดเด่นเรื่องการเป็นฐานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน หากเพิ่มการลงทุนในด้าน R&D จะยิ่งทำให้อาเซียนเติบโตได้ไกล ซึ่งเป็นวิถีของโลกในตอนนี้

“ท่องเที่ยว” คือธุรกิจหลัก

หากไม่พูดถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอาเซียนคงจะไม่ได้ เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพมาก รัฐบาลของอาเซียนต่างชูเป้าหมายการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

นายจอห์น บราวน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อโกด้า กล่าวบนเวทีในหัวข้อ “Tourism : A Growth Engine” ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวดีที่สุดของโลกศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอาเซียนจะพัฒนาได้เท่าเทียมและดีมากขึ้นเรื่อย ๆ หากเราร่วมมือซึ่งกันและกัน

ขณะที่อาเซียนพยายามผลักดัน “Single Market” ซึ่งผมมองว่าจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในอาเซียนสูงสุด ทั้งการสร้างงาน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง

“ในอนาคตการท่องเที่ยวในอาเซียนจะเติบโตมากกว่านี้ นักท่องเที่ยวจีนยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมากที่สุด พฤติกรรมการบริโภคของนักท่องเที่ยวจะเริ่มเปลี่ยนไปทั้งหลากหลายและซับซ้อน เช่น ที่นิยมนอนในโรงแรม 2-5 ดาว ก็ต้องการหาประสบการณ์ใหม่ ๆ จากที่พักที่แตกต่าง เช่น อพาร์ตเมนต์หรือบ้านเช่า เพื่อสัมผัสความเป็นอยู่แบบท้องถิ่น”

ตัวอย่างเหล่านี้อาเซียนสามารถปรับใช้และปรับตัวได้ดี และจะเป็นมูลค่าในอนาคตที่หนุนการเติบโตได้ยั่งยืน