เมียนมาลดสเกลก่อสร้าง ‘โครงการท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิว’ ห่วงหนี้บานปลาย

เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า รัฐบาลเมียนมาประกาศปรับลดขนาดแผนการก่อสร้างท่าเรือเจ้าผิว (Kyauk Pyu) ซึ่งจีนเป็นผู้ให้การสนับสนุนในพื้นที่ทางชายฝั่งตะวันตกของประเทศ โดยการปรับลดขนาดการก่อสร้างหมายถึงการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐลงด้วย ทั้งนี้ ทางการเมียนมาให้เหตุผลว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าวอาจทำให้ประเทศต้องมีหนี้สินมหาศาล

โดยนายเซ็ต ออง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิว มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของรัฐยะไข่ ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้เป็นการอ้างอิงสัญญาณเตือนจาก 2 ประเทศที่จีนเคยได้ให้การสนับสนุน ก็คือ ศรีลังกาและปากีสถาน ดังนั้น การลดขนาดโครงการก่อสร้างจึงน่าจะช่วยให้รัฐบาลเมียนมาแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่อาจจะต้องกู้ยืมจากรัฐบาลจีนน้อยลงได้มาก

ขณะที่ นายฌอน เทอร์แนล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนางออง ซาน ซู จี กล่าวว่า งบประมาณค่าใช้จ่ายที่เมียนมาจะทบทวนใหม่อาจเหลือประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าจะมีความเป็นไปได้สูงมากสำหรับรัฐบาล

ทั้งนี้ บริษัท Citic Group ผู้พัฒนาหลักของโครงการท่าเรือเจ้าผิว กล่าวว่า ขณะนี้ทางบริษัทได้รับทราบความต้องการของรัฐบาลเมียนมาแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับแผนการก่อสร้างอีกครั้ง รวมถึงหารือมนเรื่องงบประมาณการก่อสร้างด้วย โดยหลังจากเสร็จสิ้นการเจรจาจะเริ่มพัฒนา “เฟสแรก” ทันที พร้อมเปิดเผยว่า ตามแผนการก่อสร้างเดิมโครงการท่าเรือเจ้าผิวจะแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนก่อสร้าง หรือ 4 เฟส

อย่างไรก็ตาม โครงการท่าเรือเจ้าผิว ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ One Belt One Road หรือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน  ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 21 นี้เพื่อขยายการเชื่อมโยงทางการค้ากับทั่วโลก ดังนั้น นักวิเคราะห์มองว่า ขั้นการการเจรจาระหว่างทางการปักปิ่งกับเมียนมาเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนโครงการก่อสร้างดังกล่าว จำเป็นต้องหาสมดุลระหว่างกันเพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบ

ขณะเดียวกัน เมียนมา ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการลงทุนในหลายๆ อุตสาหกรรมจากจีน รวมไปถึงเสียงสนับสนุนจากจีนเกี่ยวกับข้อขัดแย้งชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮีนจาในรัฐยะไข่ หลังจากที่รัฐบาลเมียนมาถูกนานาประเทศวิจารณ์ถึงความเพิกเฉยต่อความรับผิดชอบนี้มานาน