เช็กความพร้อมกลุ่ม CLMVT ยกเครื่องสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล”

“ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล” เป็นหนึ่งแผนสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMVT (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ทีทั้งในแง่การเพิ่มผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่ม

งานสัมมนา “CLMVT Forum 2018” ซึ่งมีผู้แทนจากภาครัฐของ 5 ประเทศร่วมกันเสวนาในหัวข้อ “ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค CLMVT” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นการพัฒนาและความคืบหน้าในการดำเนินการของแต่ละประเทศ รวมถึงอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัลในปัจจุบัน

ปลุก CLMVT รวมพลัง

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งก้าวหน้าไปมากส่งผลกระทบทุกประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับผลกระทบทั้งด้านลบและบวกที่เกิดขึ้นกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมของไทย และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่าง CLMV ดังนั้น5 ประเทศ รวมทั้งไทยจึงต้องร่วมมือกันและนำเทคโนโลยีโลกยุคใหม่มาใช้เชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนา โดยยึดหลักว่า “จะทำยังไงให้เกิดการพัฒนาเต็มที่ โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

แนวทางเบื้องต้นกลุ่ม CLMVT ต้องร่วมมือกันดำเนินการ 5 ข้อหลัก ๆ ได้แก่ 1) หารือเพื่อเสริมจุดอ่อนของกันและกัน 2) เดินหน้าพร้อมกันโดยไม่จำเป็นต้องรอผู้นำจากภูมิภาคอื่นที่ใหญ่กว่า ทั้งร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้น ไม่ใช่รอแค่ภาครัฐ 3) มุ่งการเชื่อมโยง ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้เศรษฐกิจร่วมกัน เช่น ตลาดอีคอมเมิร์ซ และการแพทย์หรือเฮลท์แคร์แบบดิจิทัล

4) สร้างเอกภาพเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกัน เป็นพันธมิตรด้านกฎหมายเช่น กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ 5) ทำงานร่วมกันด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งไทยกำลังได้รับผลกระทบเพราะกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และควรเพิ่มการแลกเปลี่ยนในประเด็นสำคัญ เช่น นโยบายการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น

ชูไทยแลนด์ 4.0 ต้นแบบ

ขณะที่ผู้แทนจาก 4 ประเทศ คือ CLMV ให้มุมมองเกี่ยวกับการนำดิจิทัลมาใช้พลิกอนาคตเศรษฐกิจประเทศในกลุ่ม CLMVT โดยเห็นสอดคล้องกันว่า ต้องอาศัยความร่วมมือและความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมมากที่สุด โดยนายเจีย มานิต รองปลัดกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมของกัมพูชา กล่าวว่า ในส่วนของกัมพูชาเวลานี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นในด้านเทคโนโลยี ยังห่างไกลจากประเทศอื่น ๆ และเมื่อเทียบกับไทยแล้ว มองว่าไทยเป็นประเทศที่เทคโนโลยีก้าวหน้ามากที่สุดในกลุ่มภูมิภาค 5 ประเทศนี้

นายหอมพัน อินทารัด ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สปป.ลาว ระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลเริ่มส่งผลกระทบต่อ แต่ในปัจจุบันสปป.ลาวยังเน้นเศรษฐกิจที่พึ่งพาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ก่อนยืนยันว่ากระแสที่มีออกมาว่า สปป.ลาวเป็นประเทศ 5G ก่อนไทยและหลายประเทศนั้น ในความเป็นจริง สปป.ลาวยังอยู่ที่ 4.5G เท่านั้น อีกทั้งระบบยังไม่เสถียร และรองรับแค่บางจุดในประเทศ

สอดคล้องกับ “อู ทา ออ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารจากเมียนมา และ “บุย เด ดุย”ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม มองว่า ทั้ง 2 ประเทศยังล่าช้าด้านเศรษฐกิจดิจิทัลกว่าไทยหลายก้าว เพราะแม้จะมีนโยบายรองรับการเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่ชัดเจนและไม่แอ็กทีฟเท่ากับไทย อย่างไรก็ตาม

เชื่อว่าแนวทางการพัฒนาของไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลหากประสบความสำเร็จ 100% จะช่วยยกระดับ CLMVT อย่างน้อยก็มีต้นแบบที่ดีให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างถูกต้อง

ปูทางสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

แม้ประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงพยายามปรับตัวก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แต่ขณะนี้ส่วนใหญ่มุ่งเน้นเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรากฐานสำคัญ เช่น โลจิสติกส์ที่มีความพร้อม การเข้าถึงไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตซึ่งจำเป็นมาก

โดยผู้แทนจาก “กัมพูชา” กล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชามีแผนพัฒนาในด้าน ICT ถึงในปี 2020 ปัจจุบันการปฏิรูปอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน รถไฟ และท่าเรือ คาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าหลายโปรเจ็กต์จะเสร็จสมบูรณ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลได้มีแผนปฏิรูประบบอินเทอร์เน็ตจากกัมพูชาข้ามพรมแดนไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีสายเคเบิลใต้ดินเชื่อมโยงแค่กับไทยและมาเลเซีย อยู่ระหว่างเตรียมจะเชื่อมโยงกับเกาหลีและญี่ปุ่นเร็ว ๆ นี้

ขณะที่ “สปป.ลาว” กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมของคนในชาติ และผลักดันให้ภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจ SMEs สตาร์ตอัพเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งจะยกเครื่องอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญอันดับ 2 รองจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันแม้ใน สปป.ลาวจะมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือราว 80% ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ แต่คนใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 50% เพราะมีข้อจำกัดเรื่องความรู้ อีกทั้งภาคเอกชนยังไม่สามารถแข่งขันได้ในแง่ของกฎหมาย นวัตกรรมยังล้าหลังมาก

สำหรับ “เมียนมา” เน้นการเปิดเสรีด้านโทรคมนาคม โดยที่ผ่านมา การใช้เทคโนโลยีเติบโตกว่า 100% โดยรัฐบาลเมียนมาประกาศยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาเกษตรกรรมให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี ออกกฎเพื่อปรับปรุงภาคบริการและการค้า สาธารณสุข ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม พัฒนาเทคโนโลยีด้วยการเปิดกว้างรับนักลงทุนต่างชาติ และเพิ่งจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยความสะดวกในการใช้นโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อต่อระบบดิจิทัล

ส่วน “เวียดนาม” รัฐบาลให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมมากกว่าหลาย ประเทศ โดยเน้นที่การสร้างสตาร์ตอัพ เพื่อให้เวียดนามสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก รวมทั้งนำเทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยเพิ่มโอกาสในการรองรับเม็ดเงินจากต่างประเทศ ปัจจุบันแผนการพัฒนาเปลี่ยนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในเวียดนาม เริ่มจากสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน มีการเปิดตลาดใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์เวียดนาม เช่น ผลิตภัณฑ์จากชาวสวนที่ส่งไปขายในเมืองใหญ่ ๆ อาทิ ฮานอย โฮจิมินห์ เป็นต้น


ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของความร่วมมือและความเชื่อมโยงที่ 5 ประเทศกลุ่ม CLMVT จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการขับเคลื่อนผลักดันเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศก้าวไปข้างหน้าทะยานสู่อนาคตพร้อม ๆ กัน