ศึกชิง “มหาอำนาจโลก”

นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โลกก็ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะไม่เพียงสหรัฐจะเปลี่ยนค่านิยมเสรีที่ยึดถือมาตลอด โลกก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เพราะสหรัฐคือมหาอำนาจของโลก

ยุ่งเหยิงไปกว่านั้นเมื่อช่วงเวลาเดียวกัน จีนก็เรืองทั้งอำนาจทั้งการเงิน ผงาดขึ้นมาแย่งชิงความเป็นหนึ่งในโลกต่อสหรัฐ โดยเฉพาะการริเริ่มโครงการเส้นทางสายไหมใหม่

ในเวทีเสวนา “สงครามการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา” ภายใต้งานสัมมนา “EAST ASIA IN 2018 : จุดยืนของไทยและอาเซียนในสงครามการเมืองและการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถอดรหัสให้เห็นว่า อะไรคือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง และจะนำสู่ “สงคราม (การค้า)” แบบที่หวาดกลัวกันหรือไม่ ?

“โครงการ One Belt One Road เกิดขึ้นจากการที่สหรัฐบีบจีนในเส้นทางทะเล ทั้งในบริเวณเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เพราะไม่อยากให้จีนเติบโตจากความหวาดกลัวในแนวคิดคอมมิวนิสต์จะขยายอิทธิพล ทำให้เมื่อจีนอยากจะโตก็ต้องขยายออกไปยังทิศตะวันตกแทน” ดร.สุรชัย ศิริไกร คณะกรรมการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สภาวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดประเด็น

พร้อมระบุว่า แม้อเมริกาพยายามสยบจีนแค่ไหน แต่ด้วยความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์กว่า 5,000 ปีของจีน และเคยเป็นมหาอำนาจโลกในยุคโบราณ จีนก็ไม่เคยยอมอ่อนข้อ เมื่อจีนปฏิวัติประเทศสามารถลดคนยากจนไป 800 ล้านคน จนได้ชื่อว่ายุค “rising of China” ทุ่มเงินลงทุนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นเพื่อครองอำนาจทั้งในเอเชียและยุโรป พร้อมประกาศว่าปี 2030 จีนจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีโลกและมีประชากรที่คุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลก ทำให้สหรัฐยอมไม่ได้ที่จะเสียตำแหน่ง “มหาอำนาจ” ไป

“จริง ๆ 2 ประเทศไม่ได้อยากจะรบกัน แต่เพราะความกลัว เกียรติยศ และผลประโยชน์ก่อให้เกิดความขัดแย้ง”ดร.สุรชัยอธิบายถึงสาเหตุทำไมสหรัฐจึง “หาเรื่อง” จีนมากมาย

แม้หลายฝ่ายเชื่อว่า อีกไม่นานจีนจะผงาดครองเศรษฐกิจอันดับ 1 โลก แต่ ดร.ประภัสส์ เทพชาตรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. มองว่าไม่ง่ายที่จีนจะขึ้นเป็นมหาอำนาจ เพราะต้องประกอบด้วย 4 อำนาจ คือ 1.การทหาร 2.เศรษฐกิจ 3.เทคโนโลยี และ 4.วัฒนธรรม ซึ่งเป็น soft power และอเมริกันทำได้ดีมาก

ดร.ประภัสส์เชื่อว่า ด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสำหรับจีนไม่ใช่เรื่องยาก แต่อำนาจการทหารสหรัฐยังคุมเกมได้และมีสนธิสัญญาพันธมิตรในหลายประเทศ กับอำนาจด้านวัฒนธรรม ที่หมายถึงการเปลี่ยนไมนด์เซตคนทั้งโลก “ยังต้องจับตา” และในเกมการเมืองระหว่างสหรัฐและจีน “อาเซียน” เป็นหมากสำคัญ ก่อนหน้านี้ในความขัดแย้งต่าง ๆ ทั้งสงครามโลก หรือสงครามเย็น อาเซียนที่อยู่ในจุดภูมิยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลกตะวันออก ซึ่งมักจะอยู่ข้างมหาอำนาจอย่างสหรัฐ แต่การเรืองอำนาจของจีนนั้นพลิกเกม เพราะเป็นทางเลือกที่อาเซียนหันซบอกได้

หนทางที่ดีที่สุดในการอยู่รอดท่ามกลางมหาอำนาจโลกสำหรับทั้งอาเซียนและไทย ดร.ประภัสส์แนะว่า คืออย่ารับใช้ใคร อย่าทะเลาะกับใคร หาพันธมิตรรอบด้าน และที่สำคัญคือ เอกภาพในอาเซียน เพื่อขึ้นมามีอำนาจระดับ middle power อย่างเช่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อังกฤษ เพื่อมีบทบาทในการต่อรองกับมหาอำนาจมากขึ้น


“มหาอำนาจต่างต้องการให้ประเทศเล็ก ๆ แตกแยกเพื่อปกครองได้ง่าย ดังนั้นอาเซียนต้องเริ่มจากพัฒนาเอกลักษณ์ร่วมกัน คือทำยังไงให้คน 600 ล้านคนรู้สึกว่ารวมกันเราอยู่แยกกันเราตาย”