ทูตอินเดียแนะไทย ปรับ Mindset เพิ่มโอกาสธุรกิจ

นายกรัฐมนตรี “นเรนทรา โมดี”แห่งอินเดีย ย้ำเป้าหมายก่อนเลือกตั้งในปี 2019 ในการที่จะผลักดันการเติบโตของอินเดียจากชาติเศรษฐกิจอันดับ 6 ของโลก ให้ขึ้นมา “อันดับ 3” ขณะที่ความเข้าใจของประเทศไทยเกี่ยวกับอินเดียที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะในมิติการค้าการลงทุน ล่าสุดทางสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย ได้เปิด “India Corner” แหล่งเรียนรู้ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แห่งแรกในประเทศไทย ที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อินเดียเปลี่ยนโฉม

เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย “ภควันต สิงห พิศโนอี”กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่รู้ว่าคนไทยยังเข้าใจและมีความสนใจอินเดียไม่มาก ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลนเรนทรา โมดี มีนโยบาย Swachh Bharat Abhiyan หมายถึง “การทำให้อินเดียสะอาดขึ้น”

ตั้งแต่การสร้างโมเดลประเทศสีขาว เช่น การแบนถุงพลาสติก ปฏิรูประบบสาธารณสุข รวมถึงการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ความไม่โปร่งใสในการทำธุรกิจ ซึ่งระบบภาษี GST ใหม่จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยปลดล็อกเศรษฐกิจอินเดียได้

“แม้ช่วงแรกระบบภาษี GST จะสร้างความสับสนให้กับนักลงทุนและคู่ค้า แต่ยืนยันว่า รัฐบาลกำลังสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทางภาษีตัวใหม่นี้ พร้อมย้ำว่าอนาคตมันจะค่อย ๆ เข้าที่ ธุรกิจจะถูกดันให้เข้าสู่ระบบมากขึ้นอินเดียจะสามารถลดความซับซ้อนด้านภาษีทั้ง 29 รัฐได้ เพราะนี่เป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อการลงทุนจากต่างประเทศ เรากำลังช่วยนักลงทุนลดต้นทุนทั้งด้านการเงินและเวลา”

ไทยลงทุนอินเดียน้อย

ทูตอินเดียกล่าวว่า แม้ว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับอินเดียอยู่ในระดับดี แต่ในภาพรวมการลงทุนระหว่างกันถือว่ายังต่ำ ขณะที่เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าอินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยในปี 2019-2020 เศรษฐกิจอินเดียจะเร่งขึ้นถึง 7.5% โอกาสต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะดึงดูดการลงทุน ขณะที่ไทยอาจจะต้องเข้าใจเกี่ยวข้องกับอินเดียก่อนถึงจะเห็นโอกาสเหล่านั้น

นโยบายของนายกฯโมดี เอื้อประโยชน์ให้กับต่างประเทศเข้าไปลงทุนมากขึ้น เช่น การจดทะเบียนบริษัท การตั้งกิจการที่ทำได้ง่ายขึ้น แต่ละรัฐมีการแข่งขันเพื่อดึงดูดให้ต่างชาติเข้าไป รวมถึงนโยบายสำคัญอย่าง “Made in India” ซึ่งหลาย ๆ อุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์ในการมาตั้งฐานผลิตที่อินเดียอุตสาหกรรมที่ไทยมีโอกาสในอินเดีย เช่น โลจิสติกส์, แปรรูปสินค้าเกษตร, ห้องแช่ผลผลิตทางการเกษตร เพราะแต่ละปีอินเดียมีปัญหาต้องสูญเสียผลผลิตการเกษตรเกือบ 50%, โรงพยาบาล แม้มุมไบจะมีโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในอินเดีย แต่ประสิทธิภาพยังไม่เทียบเท่ากับหลายแห่งในไทย และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ

ไฮเวย์เชื่อม 3 ชาติดูดท่องเที่ยว

นอกจากนี้ทูตอินเดียกล่าวถึงโครงการไฮเวย์เชื่อม 3 ประเทศ ไทย-เมียนมา-อินเดีย โดยคาดว่าจะพร้อมใช้งานในปี 2020 เนื่องจากปัญหากฎระเบียบที่เคร่งครัดของเมียนมา ทำให้ดำเนินการก่อสร้างล่าช้าไป ทูตย้ำว่านอกเหนือจากประโยชน์จากการค้าการลงทุนระหว่าง 3 ประเทศที่มากขึ้นแล้ว “การท่องเที่ยว” คืออุตสาหกรรมที่จะสร้างรายได้ระหว่างกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะคนอินเดียกว่า 300 ล้านคน ที่มีกำลังซื้อและนิยมเที่ยวต่างประเทศ การเดินทางเส้นทางไฮเวย์จะเป็นทางเลือกใหม่

อย่างไรก็ตาม ท่านทูตให้มุมมองว่าในโลกธุรกิจ การเรียนรู้ “คน” ของประเทศนั้น ๆ เป็นสิ่งสำคัญ เราควรผูกมิตรเพื่อความสัมพันธ์ระยะยาว ไม่ใช่แค่มองเพียง “ผลประโยชน์” เท่านั้น