ปฏิรูปภาษี “มาเลเซีย” อีกหนึ่งแต้มต่อของ “มหาธีร์”

1 กันยายนนี้เป็นวันดีเดย์กฎหมายฉบับใหม่ที่มีความสำคัญสำหรับประเทศมาเลเซียนั่นคือ การประกาศใช้ระบบภาษี SST หรือภาษีการขายและบริการแทนที่ระบบ GST หรือภาษีสินค้าและบริการเพื่อลดภาระให้แก่ผู้บริโภค ควบคู่กับการพยุงราคาน้ำมัน

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา การเข้ามาครองบัลลังก์ผู้นำประเทศอีกครั้งของ “มหาธีร์ โมฮัมหมัด” ชายผู้ได้ชื่อว่าเป็นตำนานของประเทศ ณ ปลายด้ามขวานไทย เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนหลายต่อหลายเรื่องในมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นการไล่เช็กบิล “นาจิบ ราซัก” อดีตนายกฯและครอบครัว ข้อหาฉ้อโกงกองทุนประเทศ 1MDB ตลอดจนการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจกระตุ้นการจับจ่าย มหาธีร์และคณะเริ่มต้นบริหารประเทศโดยให้ประเด็นการแก้ปัญหาภายในเป็นศูนย์กลาง

การปรับกลับมาใช้ระบบภาษี SST คือการกลับมาเก็บภาษีประเภท “สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม” เกือบทั้งหมดในอัตรา 5-10% และเก็บภาษีบริการที่ 6% โดยระบบภาษี GST ที่เริ่มในสมัยนาจิบได้ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน ภายหลังจากที่มหาธีร์ได้รับตำแหน่งไม่นาน ตามคำสัญญาที่เขาให้ไว้ว่าจะยกเลิกภาษีสินค้าและบริการดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาค่าครองชีพที่ราคาสูงขึ้น และเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามหาธีร์ได้เสนอไอเดียเพิ่มเติมด้วยว่า เขาจะเก็บภาษีน้ำอัดลมเพิ่มขึ้นเพื่อลดการบริโภคน้ำตาลของคนในประเทศเพราะกังวลปัญหาโรคอ้วน

รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์เชื่อว่า การปรับเปลี่ยนระบบภาษีดังกล่าว นอกจากจะทำให้ค่าครองชีพประชาชนลดลงแล้ว ยังจะทำให้รัฐบาลเก็บรายได้เพิ่มขึ้น แม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะมองว่า อัตราภาษี SST น่าจะทำรายได้ให้กับชาติไม่ได้เท่า GST ก็ตาม

หากได้ติดตามการเมืองมาเลเซียจะพบว่า มหาธีร์ได้ถูกฉายภาพในลักษณะวีรบุรุษของประเทศ ที่นำพามาเลเซียเข้าสู่ความเจริญและการเปิดเสรีกระทั่งปัจจุบัน นี่คือหนึ่งเหตุผลที่เขาได้รับตำแหน่งนายกฯครั้งล่าสุด แม้อายุจะมากถึง 92 ปี

เขาชนะเลือกตั้งเหนือนาจิบ ราซัก อดีตผู้นำซึ่งแม้จะมีวิสัยทัศน์เชิงธุรกิจ แต่ก็มีข่าวฉาวฉ้อโกงอยู่เนือง ๆ สร้างความบั่นทอนทางจิตใจให้ประชาชนโดยตลอด การเลือกตั้งพลิกประวัติศาสตร์ครานี้จึงได้ชื่อจากสื่อสำนักต่างชาตินิยามว่า เป็นการเลือกตั้งที่เป็น “มารดาของการเลือกตั้งทั้งปวง”

อย่างไรก็ดี ในสมัยที่มหาธีร์ขึ้นบริหารประเทศครั้งแรก เขาก็ไม่ใช่ผู้นำที่ขาวสะอาด 100% เพราะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำอำนาจนิยม มีข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชน การกลั่นแกล้งคู่แข่งทางการเมืองอยู่เช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจุบันที่เรียกว่ายุค “มหาธีร์ 2.0” ผู้สันทัดกรณีด้านการเมืองมาเลย์ได้ถอดรหัสการดำเนินนโยบายของมหาธีร์ว่า “น่าจะมีทิศทางดีขึ้น” เพราะรัฐบาลในวันนี้เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งสิ้น จึงมีพรรคร่วมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนคอยคานอำนาจ โดยเฉพาะในประเด็นเชื้อชาติ ซึ่งน่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชนไปได้สวยกว่ายุคมหาธีร์ 1.0

เห็นได้จากนโยบายที่มหาธีร์และคณะได้ทยอยประกาศออกมา ที่เอาปัญหาปากท้อง “ชาวมาเลเซีย” เป็นศูนย์กลาง และพยายามแก้ปัญหาภายในประเทศตลอดจนภาวะคอร์รัปชั่นให้ลุล่วง และไม่ดำเนินการบริหารซ้ำรอยคำว่า “ขายชาติ” แบบที่นาจิบเคยโดนตราหน้า

หลายนโยบายของรัฐบาลมหาธีร์เป็นที่พูดถึง อาทิ การที่มหาธีร์ประกาศจะไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาจับจองอสังหาริมทรัพย์ใน “ฟอเรสต์ซิตี้” เมกะโปรเจ็กต์ที่ชายแดนตอนใต้เมืองยะโฮร์มูลค่ากว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐ เพราะไม่เห็นด้วยที่เมืองนี้ถูกสร้างโดยมีแนวคิดที่จะรองรับต่างชาติตั้งแต่แรกเริ่ม และกลัวว่าชาวจีนจะเข้ามายึดครอง ปัจจุบันเมืองยะโฮร์เผชิญหน้ากับภาวะที่ชาวจีนทะลักเข้ามาหาประโยชน์ด้านอสังหาฯเป็นจำนวนมาก

ตลอดจนการที่ผู้นำวัย 92 ปีได้ประกาศยุติเดินหน้า 3 โครงการบนเส้นทางวันเบลต์วันโรด (OBOR) ของจีนระหว่างเดินทางเยือนปักกิ่ง ซึ่งแม้รัฐบาลจีนจะออกทุนให้ แต่มหาธีร์ระบุว่าต้องการให้ประเทศชำระหนี้เก่าให้หมดเสียก่อนแล้วจะเดินหน้าโครงการใหม่อีกครั้ง โดยมหาธีร์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ด้วยว่า ในยุคสมัยก่อนหน้านี้นาจิบได้ดำเนินนโยบายซึ่งทำให้มาเลเซียเป็นหนี้สูงสุดในประวัติการณ์

อาจกล่าวได้ว่า โดยภาพรวมแล้วการกลับมาของมหาธีร์น่าประทับใจสำหรับชาวมาเลเซียไม่น้อย

ก้าวต่อไปที่น่าจับตาน่าจะเป็นห้วงเวลา 2 ปีต่อจากนี้ เมื่อ “อันวาร์ อิบราฮิม” ผู้ที่มหาธีร์วางตัวในฐานะผู้สืบทอด มารับไม้ต่อในตำแหน่งนายกฯจะมีนโยบายเปลี่ยนไปหรือไม่ และจะกลับมาให้ความสำคัญ ดำเนินความสัมพันธ์ต่อนานาชาติอีกครั้งในทิศทางไหน เป็นเรื่องที่คงจะต้องติดตามกันยาว ๆ