ส่องกัมพูชา (จบ)

REUTERS/Erik De Castro

คอลัมน์ รู้จักอาเซียน

โดย มัธธาณะ รอดยิ้ม

กัมพูชา ราชอาณาจักรเล็ก ๆ ติดพรมแดนไทย หนึ่งในประเทศที่น่าจับตามอง ท่ามกลางกระแสประชาธิปไตยที่ขึ้นสูงสุดจากการเลือกตั้งในมาเลเซีย สู่มหากาพย์การกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามเพื่อรับการเลือกตั้งในประเทศกัมพูเจีย

สิ่งหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ในการพูดถึงการเมืองกัมพูชา คือ บทบาทของนานาชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกัมพูชาเป็นประเทศที่ต้องการเม็ดเงินลงทุน และการช่วยเหลือจากนานาชาติ ฉะนั้น ทุกก้าวของฮุน เซน จะต้องเป็นอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ถูกบอยคอตจากนานาชาติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นอาณาจักรของฮุน เซน ก็จะล่มสลายไปในทันที

ในนิกเคอิ เอเชียน รีวิว เขียนรายงานชิ้นหนึ่งว่า เดิมทีฮุน เซน หนึ่งในแกนนำของกัมพูชา เคยได้รับเงินช่วยเหลือจากเวียดนาม และโซเวียต ในช่วงปีทศวรรษที่ 80 เพื่อต่อสู้กับฝ่ายเขมรแดงที่เรืองอำนาจด้วยเม็ดเงินของจีน แต่หลังจากปี 1993 กัมพูชาในสภาพสะบักสะบอมจากสงครามกลางเมืองก็ได้รับการช่วยเหลือจากญี่ปุ่น

ฮุน เซน กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 และสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ จากพรรคฟุนซินเปก นายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ที่ร่วมบริหารประเทศในปี 1997 ก็รับเงินช่วยเหลือจากฝั่งตะวันตกอย่างไม่ขาดสาย จนในปี 1997 ที่ฮุน เซน พร้อมด้วยพลพรรคจากพรรคประชาชนกัมพูชา หรือซีพีพี และการช่วยเหลือจากเวียดนามประสบความสำเร็จในการทำรัฐประหารและขึ้นสู่อำนาจอย่างเต็มตัว

ในช่วงก้าวแรกของกัมพูชา นับตั้งแต่ฮุน เซน เริ่มตั้งตัวได้ จะเห็นว่าได้รับความช่วยเหลือจากเวียดนามในการขึ้นสู่อำนาจอย่างเต็มตัว หลังจากนั้น รัฐบาลฮุน เซน ก็เปิดประเทศให้ญี่ปุ่น เกาหลีใต้เข้ามาตั้งโรงงาน เปิดให้บริษัทตะวันตกเข้ามาเริ่มกิจการที่ใช้แรงงานเข้มข้น

และขณะเดียวกัน บรรดาเครือญาติรวมถึงเพื่อน ๆ นักการเมืองระดับสูงของฮุน เซน ได้รับอานิสงส์ร่ำรวยจากการลงทุนต่างชาติ อย่าง นางพิช จันโมนี ภรรยาของ ฮุน มาเนต ลูกชายคนโตของฮุน เซน ที่มีตำแหน่งประธานบริษัทถึง 7 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแฟรนไชส์ อย่างชานมไข่มุก ร้านขายแฮมเบอร์เกอร์ หรือแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวเรือจากบ้านเรา ยังไม่นับการเป็นดีลเลอร์ขายให้กับบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของเกาหลีใต้อีกหนึ่งแห่ง

แต่ปัจจุบันเกมการเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนไปแล้ว ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่า จีนขึ้นเป็นประเทศที่กัมพูชานำเข้าสินค้ามากที่สุด แซงหน้าสิงคโปร์และไทย มากกว่านั้นจีนยังเข้าไปลงทุนสร้างอสังหาริมทรัพย์อีกหลายแห่ง อย่างโครงการพัฒนาเกาะพิต ในกรุงพนมเปญ ที่พลิกจากเกาะกสิกรรมกับตลาดสดเล็กให้กลายเป็นพื้นที่ธุรกิจ คอนโดมิเนียมหรู หรือกระทั่งร้านอาหารราคาแพงริมแม่น้ำโขง

แน่นอนว่าทุนจีนที่ทะลักเข้ามามากมาย ย่อมเสริมเงินในกระเป๋าของเครือข่ายฮุน เซน ให้มีมากขึ้น ขณะเดียวกัน ท่าทีของกัมพูชาในระดับโลก ฮุน เซน ก็ไม่จำเป็นต้องสนใจตะวันตกหรือญี่ปุ่นอีกต่อไป เพราะจีนหนุนหลังเต็มที่และไม่สนใจว่ากัมพูชาจะละเมิดสิทธิมนุษยชนมากแค่ไหน

และกลายเป็นจีนที่กลับเข้ามาในกัมพูชาหลังจากถอยไประยะหนึ่ง ซึ่งฮุน เซน เองก็เต็มใจที่จะเล่นไพ่จีนเพื่อกระชับอำนาจของตัวเอง และบริวาร เครือข่ายให้อยู่ยงคงกระพันในดินแดนอารยธรรมหลายพันปีนี้