“อีคอมเมิร์ซ” อาเซียนเดือด ทุนจีนบุกหนักกระหน่ำโปรฯแรง

ทางเศรษฐกิจโลกเหวี่ยงเข้ามายังทวีปเอเชียมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอาเซียนที่ธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” หรือค้าปลีกออนไลน์ปี 2018 ร้อนแรงมาก ด้วยเพราะเป็นตลาดเกิดใหม่ ที่มีประชากรคนรุ่นใหม่ที่สนใจเทคโนโลยี และใช้มือถือราวกับเป็นอวัยวะที่ 33 ขณะที่ชนชั้นกลางก็เพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว 158 ล้านคน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกระตุ้นทำให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ายจีน ดาหน้าเข้ามาลงทุนในอาเซียน อาทิ อาลีบาบา ที่ส่ง “ลาซาด้า” สยายปีกทั่วอาเซียน กระหน่ำโปรฯดึงลูกค้า และยังเตรียมแผนลงทุนโลจิสติกส์ในหลายประเทศ ขณะที่ “เจดีดอทคอม” อีคอมเมิร์ซเบอร์ 2 ของจีน รองจากอาลีบาบา ก็ปักธงในประเทศไทย โดยการร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อใช้เป็นฐานบุกอาเซียน

เทรนด์น่าสนใจอีกอย่างคือการจัดโปรโมชั่นออนไลน์ ลดราคาถล่มทลายที่ “บูม” มากในอาเซียน

โดยเฉพาะวันพิเศษอย่าง “9 เดือน 9” หรือวันตรุษจีน จะเห็นผู้บริโภคเข้ามาหาซื้อสินค้าและจดจ่อกับการช็อปปิ้งออนไลน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับ 6 ประเทศดาวรุ่งอีคอมเมิร์ซในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย อย่างไรก็ตาม แต่ละตลาดมีจุดแข็งจุดอ่อนต่างกันพอสมควร

อินโดฯฮอตยักษ์จีน-สหรัฐบุก

ด้วยจำนวนประชากร 260 ล้านคน ขณะที่ชนชั้นกลางก็กำลังขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้อินโดนีเซียเป็นตลาดอันดับต้น ๆ ของอาเซียน ที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเปิดตลาดอีคอมเมิร์ซ จุดเด่นของระบบอีคอมเมิร์ซในอินโดฯ คือ ระบบดีลิเวอรี่ที่แข็งแกร่งและกว้างขวาง

นอกจากนี้ อินโดฯยังได้ชื่อว่าเป็นฮับของนักพัฒนาสตาร์ตอัพ และ venture capital ที่แสวงหาโอกาสในอาเซียนทั้งหลาย พิสูจน์ได้จากที่ในปีนี้ ค่ายเทนเซ็นต์ของมหาเศรษฐีจีน “โพนี่ หม่า” เพิ่มทุ่มลงทุนในไรด์แชริ่งยูนิคอร์น “โก-เจ็ก” ถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเจดีดอทคอมก็เข้ามาลงทุนกับ “โทโกพีเดีย” ตลาด C2C ออนไลน์ระดับท็อปของประเทศ

และล่าสุด “อเมซอน” ยักษ์อีคอมเมิร์ซสหรัฐก็ประกาศลงทุนในอินโดนีเซีย เป็นมูลค่า 14 ล้านล้านรูเปียห์ (3.06 หมื่นล้านบาท) โดยเฟสแรกจะเป็นการนำเอา “อเมซอน เว็บ เซอร์วิส” (AWS) ธุรกิจให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง ดาต้าเซ็นเตอร์ ของอเมซอนมาปักหมุด

เวียดนามจุดอ่อนเพย์เมนต์

ขณะที่ “เวียดนาม” และ “ฟิลิปปินส์” เป็น 2 ประเทศที่มีจุดแข็งร่วมกัน คือ ประชากรเริ่มใช้สมาร์ทโฟนแพร่หลาย ติดโซเชียลมีเดีย ชนชั้นกลางขยายตัวเร็วมาก โดยเวียดนามได้ชื่อว่าเร็วที่สุดในอาเซียน และมี “วัยรุ่น” กำลังซื้อจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังมีจุดอ่อนอยู่ก็คือในเรื่องระบบโลจิสติกส์ที่ยังไม่แข็งแกร่งพอ รวมถึงระบบการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต หรือระบบออนไลน์ ยังค่อนข้างใหม่สำหรับคนในประเทศ ทำให้การซื้อขายออนไลน์ส่วนใหญ่มักเป็นการจ่ายเงินปลายทาง

สำหรับ “มาเลเซีย” แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีประชากรแค่ 31 ล้านคน แต่ด้วยความแข็งแกร่งของกำลังซื้อและโครงสร้างพื้นฐานที่ก้าวหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยระบบอีกัฟเวิร์นเมนต์ที่แข็งแกร่ง และระบบการชำระเงินผ่านมือถือที่แพร่หลายและปลอดภัยสูง ทำให้มาเลเซียมีอัตราการใช้โมบายเพย์เมนต์สูงมาก ซึ่งเป็นโอกาสที่สำคัญของตลาดแห่งนี้ รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ยังรวดเร็วมากอีกด้วย

“สิงคโปร์” เริ่มอิ่มตัว

สิงคโปร์เกาะเล็ก ๆ แห่งอาเซียนที่มีประชากรน้อยนิด 5.5 ล้านคน แต่ก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาคแห่งนี้ เติบโตมาจากการเป็บฮับการเงิน และเป็นประเทศที่ใช้เงินสดน้อยที่สุดในอาเซียน ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นเฮดควอร์เตอร์ของบริษัทไอทีข้ามชาติ ประเทศกำเนิดของสตาร์ตอัพและอีคอมเมิร์ซหลายเจ้า เช่น “ช้อปปี้”

ตลาดอีคอมเมิร์ซของสิงคโปร์อาจกล่าวได้ว่ามีความอิ่มตัวสูง แต่ทั้งนี้ด้วยประชากรมีกำลังซื้อสูงมาก และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติหลายเจ้ายังเข้ามาแสวงหาโอกาสและถือเป็นการทดสอบตลาดอาเซียน เช่นที่ปีนี้ “อเมซอน” ได้เริ่มเข้ามาเปิดตลาดด้วยบริการจัดส่งด่วน “ไพรม นาว” อย่างเป็นทางการ

“ไทย” ตลาดแข่งเดือด

สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซไทยก็ร้อนแรงอันดับต้น ๆ ของอาเซียน ทั้งมีโอกาสเติบโตอีกมาก จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนมาช็อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น และอานิสงส์จากภูมิยุทธศาสตร์ใจกลางอาเซียน ที่ “อาลีบาบา” ตัดสินใจปักหมุดในไทย ทำฮับกระจายสินค้า รวมไปถึงระบบโมบายเพย์เมนต์ “พร้อมเพย์” ที่ต่างชาติชื่นชมว่าเป็นการพัฒนาระบบการชำระเงินที่ไปไกลกว่าเพื่อนบ้าน

ขณะที่การแข่งขันอีคอมเมิร์ซไทยดุเดือด ทั้งจากการกระหน่ำโปรโมชั่นของ “ลาซาด้า” และ “ช้อปปี้” และปีหน้าจะร้อนแรงมากขึ้น เมื่อ “เจดีดอทคอม” ผนึกเซ็นทรัลกรุ๊ป พร้อมลุยค้าปลีกออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าปีหน้า อีคอมเมิร์ซในอาเซียนอาจจะแบ่งฝ่ายชัดเจน ระหว่างทุนจีน “อาลีบาบา-เทนเซ็นต์” ซึ่งบีบให้อีคอมเมิร์ซท้องถิ่นต้องเลือกข้าง

และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็น”อเมซอน” รุกคืบเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการท้องถิ่นในอนาคตอันใกล้