“กัมพูชา” ฮึดสู้ EU ดิ้นส่งออกแรงงาน

แผนส่งออก “แรงงาน” เป็นเป้าหมายใหม่ในการสร้างรายได้เข้าประเทศของรัฐบาล “ฮุน เซน” ถูกสันนิษฐานโดยนักวิเคราะห์ว่า อาจเกี่ยวเนื่องกับคำข่มขู่ของสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกัมพูชา ด้วยการตัดสิทธิพิเศษทางการค้า ภายใต้นโยบาย “Everything but Arms” (EBA) เพราะหากเกิดขึ้นจริงจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยกัมพูชาที่พึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหลัก และอียูเป็นตลาดใหญ่สุด

ในปี 2009 “กัมพูชาและคูเวต” ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนแรงงานแต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยถูกนำไปปฏิบัติจริง กระทั่งเมื่อปลายเดือนตุลาคม “พนมเปญโพสต์” รายงานว่า นายอิท ซัมเฮง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของกัมพูชา ได้หารือเรื่องนี้กับ นายฮินด์ อัล-ซาบีห์ รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสังคมและแรงงานของคูเวต และมีแผนว่าในปี 2019 กัมพูชาเตรียมส่งออกแรงงาน 5,000 คน ไปยังคูเวตเป็นครั้งแรก

“คูเวต” ยังมีความต้องการแรงงานทักษะต่ำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในธุรกิจบริการและเกษตรกรรม โดยสำนักงานสถิติคูเวตระบุว่า ในปัจจุบัน “อินเดีย” เป็นกลุ่มแรงงานที่เข้าไปทำงานในคูเวตมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 25% ของจำนวนแรงงานต่างชาติทั้งหมด รองลงมา คือ อียิปต์ 23% และยังมีแรงงานสัญชาติอื่น ได้แก่ บังกลาเทศ, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, ซีเรีย, เนปาล, อิหร่าน และศรีลังกา

หากผลลัพธ์จากการส่งออกแรงงานไปคูเวตชุดแรกประสบความสำเร็จ ซึ่งหมายถึงสัญญาการจ้างงานและอัตราค่าจ้างแรงงาน รวมถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่าง ๆ เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ รัฐบาลฮุน เซน เตรียมจะส่งออกแรงงานไปเพิ่มขึ้น รวมถึงการจัดส่งแรงงานไปยังประเทศอื่น ๆ ในแถบตะวันออกกลางด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาเคยนำร่องแผนการส่งออกแรงงานไปต่างประเทศแล้ว โดยจัดส่งแรงงานผู้หญิงจำนวน 1,000 คน ที่ผ่านการฝึกอบรมภาษาจีน และมีคุณสมบัติตามที่ฮ่องกงกำหนด ไปเป็นแม่บ้านในฮ่องกง จากหลายปีก่อนแม่บ้านในฮ่องกงส่วนใหญ่จะเป็นชาวฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากกลุ่มพิทักษ์สิทธิแรงงานในกัมพูชาตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศจุดยืนของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ที่ยืนยันว่าจะไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารประเทศ หรือทำตามข้อเรียกร้องของนานาชาติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งข้อตกลงทางการค้า ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนให้ทางอียูสามารถดำเนินการตามคำข่มขู่ได้ทันทีที่การหารือภายในเสร็จสิ้น

ผลกระทบที่จะตามมาแน่ ๆ คือ สินค้าของกัมพูชา โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทอ และรองเท้า ที่ส่งออกไปยังตลาดอียู จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายสูงกว่าสินค้าจากประเทศคู่แข่งอื่น ๆ อย่างเช่น บังกลาเทศ

ยิ่งกว่านั้น ประธานสมาคมสิ่งทอของกัมพูชาเคยประเมินไว้ว่า ผลร้ายแรงที่สุดที่กัมพูชาอาจต้องเผชิญก็คือ การโยกย้ายฐานการผลิตออกจากกัมพูชา โดยประเทศที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายใหม่อย่าง “เวียดนาม” จะได้อานิสงส์

ด้าน นายเฮง เสาร์ โฆษกกระทรวงแรงงานกัมพูชา กล่าวว่า การส่งออกแรงงานไปต่างประเทศเป็นแผนใหม่ของรัฐบาลที่ต้องการชดเชยรายได้จากภาคการผลิตสิ่งทอ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้

อันดับหนึ่งอาจจะหายไป และแม้ว่าเมื่อต้นเดือนตุลาคม นายฮุน เซน ประกาศปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงาน ในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้าเพิ่มขึ้นจาก 170 ดอลลาร์ เป็น 182 ดอลลาร์/เดือน และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2562 แต่นักวิเคราะห์มองว่า ยังไม่เพียงพอต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวกัมพูชา ตามแผนพัฒนาประเทศที่จะหลุดพ้นจากความยากจนภายในปี 2030

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์บางสำนักระบุว่า การปรับเพิ่มค่าแรงในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงมากว่า กัมพูชาอาจเสียตลาดอียู จะกลายเป็นปัจจัยเสริมให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจย้ายฐานผลิตไปเมียนมา และเวียดนาม ง่ายขึ้น