เมียนมาร์พร้อมรับ”โรฮิงญา”คืนบ้าน กลุ่มแรก15 พ.ย.นี้ ยูเอ็นห่วงความปลอดภัย-อิสระ

AFP PHOTO / STR

รอยเตอร์ส รายงาน ทางการเมียนมาร์ประกาศพร้อมรับกลับมุสลิมโรฮิงญากว่า 2,000 คน ผู้ซึ่งอพยพไปยังบังกลาเทศ ในวันที่ 15 พ.ย. นี้ ขณะที่กลุ่มผู้อพยพกลับกลุ่มแรกจำนวน 5,000 คน ตามข้อตกลงระหว่างเมียนมาร์กับประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ผู้อพยพซึ่งอยู่ในลิสต์ที่ได้รับการยินยอมจากบังกลาเทศให้กลับเมียนมาร์กว่า 20 ราย ระบุว่า พวกเขาปฏิเสธที่จะเดินทางกลับรัฐยะไข่ที่ซึ่งตนจากมา โดยบังกลาเทศก็ยืนยันว่าจะไม่มีการบังคับเช่นนั้น

สหประชาชาติแสดงความเห็นว่า สถานการณ์และเงื่อนไขความเป็นจริงยังไม่อาจรับรองความปลอดภัยให้กับผู้อพยพที่จะกลับคืนบ้านได้ เนื่องจากชาวพุทธในเมียนมาร์ยังคงต่อต้านการกลับคืนบ้านของมุสลิมโรฮิงญา ด้าน UNHCR แนะนำว่า ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาควรได้รับอนุญาติให้ไปและเห็นบริบทแวดล้อมในเมียนมาร์ก่อนตัดสินใจอพยพกลับจริง

“ขึ้นอยู่กับอีกประเทศหนึ่ง ว่าสิ่งนี้มันจะเกิดขึ้นหรือไม่” Win Myat Aye รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสวัสดิการสังคมและการตั้งถิ่นฐานของเมียนมาร์ กล่าวถึงบังกลาเทศระหว่างการประชุมในย่างกุ้ง “แต่สำหรับเรานั้นพร้อมแล้ว”

Abul Kalam คณะกรรมาธิการการบรรเทาทุกข์และการส่งกลับประเทศบังกลาเทศ กล่าวว่า เขารู้สึกมีความหวังกับการพร้อมรับโรฮิงญากลับในวันที่ 15 พ.ย. นี้ “การส่งกลับนี้เป็นไปตามความต้องการของแต่ละคน ไม่มีใครถูกบังคับอย่างแน่นอน”

เมียนมาร์เห็นชอบการรับกลับผู้อพยพมุสลิมโรฮิงญาบางส่วนจากจำนวนกว่า 700,000 คน ซึ่งหนีออกจากเมียนมาร์เมื่อปีที่แล้ว โดยจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพ.ย. เป็นต้นไป

ผู้ลี้ภัยกล่าวว่า ทหารและชาวพุทธในเมียนมาร์ฆ่าครอบครัวของพวกเขา เผาบ้านนับร้อยหลัง และออกข่มขืนผู้หญิง เป็นผลให้นักสืบที่อยู่ใต้การสั่งการของสหประชาชาติสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า “มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

ด้านเมียนมาร์ให้การปฏิเสธต่อข้อกล่าวหา และแย้งว่าเป็นการกระทำดังกล่าวเป็นการป้องกันด้านความมั่นคงต่อกบฎ หรือโรฮิงญาซึ่งเรียกตัวเองว่ากองทัพบกอารากันโรฮิงญา

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย สหประชาชาติ เรียกร้องให้เมียนมาร์อนุญาติให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาสามารถกลับไปยังบ้านของพวกเขาได้โดยอิสระ ปลอดภัย และอย่างมีศักดิ์ศรี

Win Myat Aye กล่าวว่า ได้จัดเตรียมที่พักสำหรับคนจำนวน 2,251 คน ซึ่งจะเดินทางมาเป็นกลุ่มแรกโดยเรือในวันพฤหัสบดีนี้ ขณะที่กลุ่มที่สองจำนวน 2,095 คนจะเดินทางตามมาทีหลังทางบก

เมื่อเดินทางมาถึงเมียนมาร์ พวกเขาจะถูกส่งไปยังศูนย์ดูแลที่ซึ่งมีที่พัก อาหาร และสามารถขอสร้างบ้านได้เมื่อทำงานแลกเงิน

ผู้อพยพได้รับอนุญาติให้อยู่เฉพาะใน “มองดอ” (Maungdaw) พื้นที่หนึ่งในรัฐยะไข่ และได้รับเพียงบัตรตรวจสอบ (National Verification Cards) หรือเอกสารยืนยันตัวตนซึ่งชาวดรฮิงญาจำนวนมากปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า “เสมือนเป็นชาวต่างชาติ”


ชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่อพยพมากกว่า 1 ทศวรรษ ต่อต้านการให้เดินทางกลับเมียนมาร์โดยปราศจากการการันตีการเป็น “พลเมือง” และ “อิสระ” ในการเคลื่อนไหว-ย้ายถิ่นฐาน