สิงคโปร์ปลุก “อาเซียน” ผนึกกำลัง รับมือ “สงครามการค้า”

REUTERS/Lintao Zhang

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 33 ที่ประเทศสิงคโปร์ ภายใต้แนวคิดหลัก “Resilient and Innovative” นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับการเปิดตลาดภายในภูมิภาคอย่างจริงจัง

ในการประชุมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายนนี้ นอกจากจะมีเหล่าผู้นำอาเซียนแล้ว ยังมีผู้นำประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้ รัสเซีย ญี่ปุ่น

อินเดีย สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ รวมทั้งผู้นำจากภาคีภายนอก ได้แก่ “แคนาดา” ในฐานะประธาน G7 “ชิลี” ในฐานะประธานความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

“แชนเนลนิวส์เอเชีย” รายงานว่า ในระหว่างการปราศรัยต่อที่ประชุมด้านธุรกิจภายในอาเซียนก่อนการประชุมหลัก นายกฯลีเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียน ให้ความสำคัญกับ “การเปิดตลาดเสรี” ภายในให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น มุ่งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันและกัน และที่สำคัญ จะต้องยอมรับกับการแข่งขันในตลาดที่จะรุนแรงมากขึ้น เพราะเป็นกลไกโดยปกติที่ต้องเกิดขึ้นตามมา

การประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนของอาเซียน” ถือเป็นกรอบการเจรจาก่อนการประชุมหลักร่วมกับภาคีอื่น ๆ จากทั่วโลก นายลีกล่าวว่า รัฐบาลแต่ละประเทศยังยึดติดอยู่กับการปกป้องผลประโยชน์ภายใน และคำนึงถึงผลประโยชน์ของทั้งภูมิภาคน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

หนึ่งในคำกล่าวต่อผู้นำอาเซียนย้ำว่า “ยิ่งตลาดแบบบูรณาการเปิดกว้างมากขึ้นเท่าไหร่ ทั้งข้อกฎหมายและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจะยิ่งเอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศมากเท่านั้น นั่นหมายถึงส่วนแบ่งของอาเซียนจะเพิ่มขึ้น และจะได้รับผลประโยชน์มหาศาลร่วมกัน”

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของ “สงครามการค้า” ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ขณะที่ผลการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายกีดกันทางการค้ามากนัก ดังนั้น ความเสี่ยงจะยังคงอยู่และเกิดขึ้นกับประเทศคู่ค้าทั่วโลก หากแต่สมาชิกอาเซียนผนึกกำลังให้เข้มแข็ง เราจะช่วยกันลดทอนความเสี่ยงจากวิกฤตนี้ได้

นายกฯสิงคโปร์ยกตัวอย่างจากการค้าการลงทุนระหว่างเวียดนามและสิงคโปร์ ในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีการเติบโตอย่างโดดเด่น


หากสมาชิกสามารถก้าวข้ามอุปสรรคทางการค้าได้สมบูรณ์ อาเซียนจะมีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ฉะนั้น เราต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อช่วยกันรับมือจากแรงกดดันทางการเมืองภายนอกที่มากระทบ “การค้าแบบพหุภาคี”