จีนพลิกฟื้นโครงสร้างพื้นฐาน “ปินส์” ยาหอมหรือยาพิษสู่ “กับดักหนี้”

ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ของศตวรรษที่ 21 หรือ One Belt One Road (OBOR) ที่พาดผ่านตั้งแต่ภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และยุโรป “จีน” สวมบทบาทเป็น “พ่อบุญทุ่ม” ให้กู้เงินก้อนโตกับประเทศยากจน ล่าสุดจีนฟื้นสัมพันธ์กับ “ฟิลิปปินส์” เป็นชาติต่อไป

รอยเตอร์สรายงานว่า ทริปเยือนกรุงมะนิลาของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในรอบ 13 ปี ระหว่างวันที่ 20-21 พ.ย. เพื่อหารือร่วมกับประธานาธิบดี “โรดริโก ดูเตอร์เต” ของฟิลิปปินส์ ผู้นำทั้งสองได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เกี่ยวกับความร่วมมือหลายฉบับ ครอบคลุมเกือบทุกด้านทั้งโทรคมนาคม การศึกษา ธุรกิจบริการ อีกทั้งจีนได้ตกลงที่จะนำเข้ามะพร้าวของฟิลิปปินส์จำนวนหลายพันตันในปีหน้า

ขณะที่ข้อตกลงที่นานาชาติให้ความสนใจก็คือ การสำรวจปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในบริเวณพื้นที่ทะเลจีนใต้ร่วมกัน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 4 โปรเจ็กต์ใหญ่ จากทั้งหมด 38 โครงการที่เคยหารือไว้เมื่อ 2 ปีก่อน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “สร้าง สร้าง สร้าง” มูลค่ากว่า 180,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ 2 ใน 4 โปรเจ็กต์ที่นานาประเทศจับตาก็คือ “โครงการสร้างเขื่อนคาลิวา” มูลค่า 232.5 ล้านดอลลาร์ โดยจีนเป็นผู้ลงทุนหลักถึง 85% และแผนปรับปรุงเส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างกรุงมะนิลา กับพื้นที่ตอนใต้ของเกาะลูซอน

รายงานของ “บิสซิเนส มิเรอร์” อ้างผลวิเคราะห์ของ IBON องค์กรไม่แสวงผลกำไรของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งเคยประกาศเมื่อ 2 ปีก่อนว่า พร้อมจะเพิ่มการค้าการลงทุน รวมถึงปล่อยเงินกู้เพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลต้องการจะฟื้นฟู

แม้ว่าที่ผ่านมาการลงทุนของจีนในฟิลิปปินส์ยังน้อยกว่าการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น หรือน้อยกว่าเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และเวิลด์แบงก์ แต่จุดยืนของผู้นำดูเตอร์เตในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปมาก ทำให้เกิดความกังวลว่า การเปิดรับทุนจากจีนอย่างเต็มที่อาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ได้ รวมทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศด้วย

“คริสเตียน เดอ กุซมัน” รองผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ด้านเครดิตอาวุโสแห่งบริษัท มูดีส์ ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ศักยภาพของเมืองดาเวา ใกล้กับทางชายฝั่งแปซิฟิกของฟิลิปปินส์ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการขนส่งแร่ธาตุของจีนไปสู่ทวีปอื่น และเป็นเส้นทางที่สำคัญต่อโครงการ OBORสะท้อนว่า ฟิลิปปินส์ยังเป็นดินแดนที่รัฐบาลปักกิ่งไม่สามารถละเลยได้ และจีนต้องทำทุกทางเพื่อเสนอสิ่งจูงใจ เช่น การมอบเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา แต่เงินทุนจากจีนไม่ใช่ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ซึ่งจะมาเป็นรูปแบบของ “เงินกู้ก้อนใหญ่” ซึ่งหลายประเทศเมื่อไม่สามารถชำระเงินกู้คืนได้ ก็จำต้องยอมมอบสิทธิครอบครองพื้นที่หรือสาธารณูปโภคให้กับจีน เพื่อเป็นหลักประกัน

วิธีการดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับหลายประเทศ งานวิจัยของศูนย์ศึกษาการพัฒนาโลกได้ระบุว่า ปัจจุบันมี 68 ประเทศที่รับเงินสนับสนุนตามโครงการ OBOR ของจีน และมี 23 ประเทศที่มีความเสี่ยงไม่สามารถชำระหนี้ได้ หนึ่งในนั้นคือ “ศรีลังกา” ในกรณี “ท่าเรือฮัมบันโททาไน” ที่ก่อสร้างด้วยเงินทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ 85% มาจากจีน

หลังจากเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2010 ท่าเรือไม่สามารถทำกำไรได้ตามเป้า รัฐบาลศรีลังกาจึงจำยอมให้บริษัทของจีนเช่าท่าเรือแห่งนี้นานถึง 99 ปี เพื่อชดใช้หนี้ให้กับจีน

รายงานดังกล่าวเปิดเผยรายชื่อ 8 ประเทศ ที่อยู่ในขั้นวิกฤตไร้ความสามารถในการชำระหนี้จีน ได้แก่ 1) จิบูตี 2) ทาจิกิสถาน 3) คีร์กีซสถาน 4) สปป.ลาว 5) มัลดีฟส์ 6) มองโกเลีย 7) มอนเตเนโกร และ 8) ปากีสถาน จากข้อเสนอโครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน” เป็นต้น

“เจย์ บาทองบาคาล” ศาสตราจารย์ด้านกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ให้ความเห็นว่า เงินทุนจากจีนช่วยให้หลายประเทศเกิดการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และความช่วยเหลือของจีนอาจแฝงมาด้วยการเป็นพันธมิตรที่ดี แม้ว่าไม่ได้เป็นการบังคับขู่เข็ญเหมือนยุคล่าอาณานิคม แต่ผู้นำและผู้กู้เงินต้องพิจารณาข้อดี


ข้อเสียอย่างถี่ถ้วน เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีทั้งยังได้อ้างคำกล่าวของรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ แห่งสหรัฐ บนเวทีการประชุมเอเปกว่า “จีนมักหยิบฉวยโอกาสและผลประโยชน์จากประเทศอื่นจากนโยบายการปล่อยกู้ก้อนโตที่ดึงดูดใจ แต่นั่นเป็นยาพิษในคราบการช่วยเหลือของปักกิ่ง เพราะมันเป็นกับดักหนี้”