“อาเซียน” กับผลกระทบ ในยุค “เทคโนโลยีดิสรัปชั่น”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

เทคโนโลยีซึ่งพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว กระทบและเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (เทคโนโลยีดิสรัปชั่น) ดังที่ประจักษ์กันว่าอิทธิฤทธิ์ของมันทำให้หลายธุรกิจล่มสลายหรือสูญพันธุ์ในเวลาอันสั้น

ความเร็วทำให้หลายธุรกิจปรับตัวไม่ทัน ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดยังหมายถึงความไม่แน่นอนในอาชีพการงาน เพราะเทคโนโลยีเข้ามาแย่งงาน ไม่ว่าจะโดยหุ่นยนต์ โดยปัญญาประดิษฐ์หรือระบบอัตโนมัติอื่น ๆ

เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ประเมินว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า งานจำนวน 75 ล้านตำแหน่งจะหายไป และจะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้น 113 ล้านตำแหน่ง ดังนั้นทั่วโลกจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ผลวิจัยชิ้นใหม่ของ “ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์” และ “ซิสโก้” ของสหรัฐ ระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าภูมิภาคอื่น เพราะแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและใช้แรงงานเข้มข้น

และเพื่อไล่ให้ทันความเปลี่ยนแปลง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องเปลี่ยนผ่านจากภาคเกษตรไปสู่ภาคบริการภายในไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งอาจทำให้ 28 ล้านคนที่ทำงานเต็มเวลาใน 10 ประเทศต้องตกงานในทศวรรษหน้า หรือคิดเป็น 10% ของประชากรวัยทำงานในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และถึงแม้จะมีตำแหน่งงานเกิดขึ้นใหม่แทนอันเก่าที่หายไป แต่สุทธิแล้วก็จะยังมีคนที่ตกงานอยู่ดี เนื่องจากขาดทักษะที่จะเปลี่ยนไปสู่งานใหม่

นาวีน เมนอน ประธานบริษัทซิสโก้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า อุตสาหกรรมที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่มากที่สุดในอนาคตของอาเซียนเป็นอุตสาหกรรมที่ตอบสนองผู้บริโภคที่ร่ำรวยขึ้นเรื่อย ๆ และมีความต้องการซื้อสินค้า ตลอดจนประสบการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเทคโนโลยีจะทำให้ผลิตภาพ (productivity) ในอาเซียนเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ถูกลง ขณะเดียวกันจะทำให้ประชาชนมีอำนาจการใช้จ่ายมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ช่วยสร้างงานใหม่ ๆ โดยเฉพาะในภาคค้าปลีก-ส่ง ภาคการผลิต ก่อสร้าง ขนส่ง กิจการไอทีขนาดเล็ก ภาคการเงินและศิลปะ ซึ่งล้วนต้องใช้ทักษะสูงอีกด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมที่เสี่ยงจะทำให้มีการตกงานมากที่สุดในอาเซียนคืองานที่ใช้ทักษะต่ำ มีการใช้แรงงานเข้มข้น

โดยในอาเซียน 6 ประเทศ ตำแหน่งงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรถึง 76 ล้านตำแหน่ง โดย 1 ใน 3 เป็นงานที่มีโอกาสสูงจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี

“อินโดนีเซีย” คาดว่าจะมีผู้ตกงานมากที่สุด 9.5 ล้านตำแหน่ง รองลงมาคือ เวียดนามและไทย สำหรับสิงคโปร์ แม้จะได้ชื่อว่าอยู่แถวหน้าของอาเซียนในด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและคนมีทักษะสูง แต่ตำแหน่งงานก็จะได้รับผลกระทบ คาดว่าทศวรรษหน้าตำแหน่งงานแบบเต็มเวลา 21% จะสูญหายไป แต่พร้อมที่ยกเครื่องกระบวนการทำงานและเริ่มนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งงานใหม่หลังจากนี้จะต้องใช้ทักษะสูงขึ้นไปอีก ส่วนกำลังแรงงานที่จำกัด ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สิงคโปร์ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่

แม้เทคโนโลยีจะสร้างความท้าทายให้กับภาคธุรกิจและลูกจ้างในอาเซียน แต่จะส่งผลดีเพราะจะช่วยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว