สื่อเขมรตีข่าว “ยูเนสโก” ขึ้นทะเบียน “ละคอนโขนกัมพูชา” เป็น “มรดกโลก”

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน หนังสือพิมพ์ ขแมร์ไทม์ส รายงานว่า คณะกรรมการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลก ประจำคณะกรรมการมรดกโลก ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้พิจารณาขึ้นทะเบียน “ละคอนโขน” ของกัมพูชา เป็น “มรดกโลกเชิงวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน” ในระหว่างการประชุมประจำปีของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการให้ความคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งมีขึ้นที่ประเทศมอริเชียสเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน

สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โพสต์แสดงความเห็นในหน้าเฟซบุ๊กเพจ ยกย่องการตัดสินใจดังกล่าว โดยระบุว่า “ถือเป็นความภาคภูมิใจครั้งใหญ่ของชาติ ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะความพยายามร่วมกันของรัฐบาล, ศิลปินในท้องถิ่นและภาคประชาสังคม ภายใต้การผลักดันจากสาธารณชน นำมาซึ่งผลสำเร็จของเราในครั้งนี้”

รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลเริ่มต้นล็อบบี้ให้ยูเนสโกขึ้นทะเบียน “ละคอนโขน วัดสวายอันเด็ท” ซึ่งรู้จักกันทั่้วไปในชื่อ “ละคอนโขน” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก มาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา

นายโนรัก สัตยา ไท โฆษกของกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ ของกัมพูชา กล่าวว่า ความพยายามของกระทรวงฯ ประสบผลสำเร็จและถือเป็นความภูมิใจของคนกัมพูชาทั้งประเทศ หลังจากขึ้นทะเบียนแล้ว เราจะได้รับการสนับสนุนจากยูเนสโก ซึ่งรวมถึงเงินทุนสำหรับการอนุรักษ์ประพณีนี้ไว้ ยูเนสโก จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมของกัมพูชาและส่งเสริมการละเล่นนี้ออกไปทั่วโลกอีกด้วย

ขแมร์ไทม์ส รายงานว่าในช่วงก่อนหน้านี้ไม่นาน ชาวกัมพูชาและไทยทะเลาะกันผ่านอินเตอร์เน็ต หลังจากทางการไทยประกาศว่าเตรียมขอให้ยูเนสโกให้คำรับรองว่าโขนเป็นของประเทศไทย โดยระบุเอาไว้ด้วยว่า โขน กับละคอนโขนมีความคล้ายคลึงกัน ต่างอยู่บนพื้นฐานของมหากาพย์ รามายณะ ของอินเดีย และมีการใช้ผู้เล่นสวมหน้ากาก (หัวโขน) บอกเล่าเรื่องราวผ่านท่าเต้น

นายโนรัก สัตยา ระบุด้วยว่า การขึ้นทะเบียนของยูเนสโกในครั้งนี้ คงสร้างความพอใจให้กับหลายคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าไม่ช่วยเหลืออนุรักษ์การละเล่นนี้ และย้ำว่าทางกระทรวงฯจะคุ้มครองให้การละเล่นนี้คงอยู่ตลอดไป

ในเวลาเดียวกันทางกระทรวงฯ ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งระบุว่า ได้รับการสนับสนุนจากศิลปิน เอ็นจีโอ และบรรดาคนหนุ่มสาวทั่วประเทศ ที่ต้องการเห็นมรดกทางวัฒนธรรมของเรามีชื่อเสียงเลื่องลือในระดับนานาชาติ และควรช่วยในการคุ้มครองและส่งเสริมวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของกัมพูชาทั้งหลายด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการมรดกโลกเคยขึ้นทะเบียนขนบประเพณีท้องถิ่นหลายอย่างในกัมพูชาให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้มาแล้ว รวมทั้งบัลเลต์หลวงแห่งกัมพูชา ในปี 2546, การแสดงหุ่นเงา สเบ็กธม ปี 2548 และ เทียนท์ โพร็ต หรือ ชักคะเย่อ ในปี 2558 และ ชาปี ด็อง เวง หรือ พิณเขมรในปี 2560

 


ที่มา : มติชนออนไลน์