วิกฤต “ยะไข่” รอบใหม่ สะเทือน ศก.เมียนมา

REUTERS/Ann Wang

ความขัดแย้งในรัฐยะไข่ส่งสัญญาณว่าจะรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่ “ออง ซาน ซู จี” ไฟเขียวให้กองทัพเมียนมาเดินหน้ากวาดล้าง “กองทัพอาระกัน” ที่ต้องการปกครองตนเองอย่างอิสระ

รอยเตอร์สรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา นางออง ซาน ซู จี ในฐานะผู้กุมอำนาจสูงสุดของรัฐบาล ได้หารือร่วมกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐยะไข่ โดยนางซู จี อนุมัติให้กองทัพเมียนมาปราบปรามกลุ่มกบฏได้ ถือเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลซู จี กับกองทัพทหารเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ การต่อสู้ระหว่างกองกำลังรัฐบาล และกองทัพอาระกัน ในรัฐยะไข่ ทำให้มีประชาชนหนีตายเพิ่มอีกกว่า 4,500 คน ในช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ความขัดแย้งดังกล่าวรุนแรงขึ้น ล่าสุดสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศว่า มีชาวโรฮีนจาอยู่ในบังกลาเทศขณะนี้กว่า 750,000 คนแล้ว

“กองทัพอาระกัน” ต้องการปกครองตนเองอย่างอิสระ โดยพยายามเป็นผู้ปกครองในรัฐยะไข่มานาน “อิระวดี” สำนักข่าวของเมียนมาระบุว่า กองทัพอาระกันพยายามสร้างบทบาทขึ้นในยะไข่กว่า 9 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งด้วยสมาชิกเพียง 26 คน จนปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 7,000 คน และหลายปีที่ผ่านมากองทัพอาระกันมีความแข็งแกร่งขึ้น จากเงินสนับสนุนมหาศาล

นักวิเคราะห์ด้านกิจการชาติพันธุ์กล่าวว่า เงินต้นทางที่สนับสนุนกองทัพ AA สันนิษฐานว่า ส่วนหนึ่งมาจากกองทัพอิสระคะฉิ่น (KIA) และพันธมิตรของกองทัพสหรัฐอื่น ๆ ที่ชื่อว่า UWSA นอกจากนี้ยังมีชาวยะไข่จำนวนมากที่ทำงานในต่างประเทศ

สัญญาณความรุนแรงก่อให้เกิดความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมียนมา โดยนักวิเคราะห์หลายราย รวมทั้งบริษัท Herzfeld Rubin Meyer & Rose (HRMR) บริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสหรัฐอเมริกาแห่งแรกในย่างกุ้งระบุว่า ปัญหาภายในของเมียนมาไม่ได้กระทบแค่เพียงภาพลักษณ์เท่านั้น แต่ลามไปถึงความเชื่อมั่นด้านการลงทุนด้วย

นายอีริก โรส ผู้อำนวยการของ HRMR กล่าวว่า เป็นทิศทางที่ดีที่เห็นว่ารัฐบาลซู จี พยายามปรับปรุงและผ่อนคลายกฎการลงทุน เช่น ปรับการถือครองหุ้นเป็น 100% ในบางธุรกิจ ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือ
ผ่อนคลายให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 35-100% ในธุรกิจค้าปลีก

อย่างไรก็ตาม การเพิกเฉยต่อคำเรียกร้องของนานาชาติให้แก้ไขสถานการณ์ เป็นเหตุผลที่ทำให้หลายบริษัทต่างชาติต้องปิดตัวลง เช่นเดียวกับ HRMR เพราะไม่มีนักลงทุนตะวันตกกล้าเสี่ยงที่จะเข้าไปทำธุรกิจ ขณะเดียวกันบริษัทอเมริกันบางรายไม่เชื่อมั่นว่าเมียนมาจะกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยได้

ด้านกระทรวงการค้าการลงทุนย้ำว่า เมียนมาจำเป็นต้องยุติความรุนแรงโดยเร็วที่สุด เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่การล้างบางกลุ่มติดอาวุธในรัฐยะไข่ ซึ่งขณะนี้มีกำลังและแข็งแกร่งขึ้นมาก อาจกลายเป็นการเพิ่มรัศมีความรุนแรงให้กว้างขึ้น ขณะที่ นายซีน เทิร์นแนล ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจพิเศษของ ซู จี กล่าวว่า ในอดีตก่อนจะมีปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่ นักลงทุนที่มีบทบาทมากในเมียนมาก็คือ “เอเชีย สหรัฐ และยุโรป” แต่ปัจจุบันการลงทุนลดลงเรื่อย ๆ มีเพียงแต่การลงทุนจากประเทศเอเชียเป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ นายทัน ซอ นักเศรษฐศาสตร์ของเมียนมา กล่าวว่า ผลกระทบในระยะยาวไม่เพียงแค่จะฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจเมียนมาเท่านั้น แต่อาจกระทบไปถึงกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง หรือ CLMVT ที่ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เพราะเป็นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญที่นานาประเทศตัดสินใจเข้ามาลงทุนก็เพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างกัน

หากประเทศใดประเทศหนึ่งมีปัญหา อาทิ ปัญหาที่เกิดจากการเมือง ความขัดแย้ง ก็มีส่วนทำให้ประเทศร่วมภูมิภาคใกล้เคียงมีความน่าสนใจลดน้อยลงได้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!