นโยบายใหม่ “กัมพูชา” ลดพึ่งพา EU-US มุ่งเอเชีย

มรสุมของอุตสาหกรรมสิ่งทอกัมพูชารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศพิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางการค้า ที่เรียกว่า EBA (everything but arms) เพื่อคว่ำบาตรพฤติกรรมของ “ฮุน เซน” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ขณะเดียวกันสัปดาห์ก่อน สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาก็มีการหารือและเรียกร้องให้ตัดสิทธิการยกเว้นภาษีศุลกากรทั่วไป หรือ GSP เช่นกัน

แขมร์ไทมส์ รายงานว่า สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกหลักของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของกัมพูชา นอกจากนี้ สินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าว และน้ำตาล กัมพูชาได้ส่งออกไปสองตลาดดังกล่าวมากที่สุดเช่นกัน โดยส่งออกไปอียูมากกว่า 40% ของยอดส่งออกทั้งหมด ตามด้วยสหรัฐเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 30%

ทั้งนี้ เพียง 1 สัปดาห์ก่อนที่นายกรัฐมนตรีฮุน เซน จะเดินทางไปประเทศจีน ซึ่งเป็นทริปการเยือนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างวันที่ 20-23 ม.ค.

นายฮุน เซน ได้ประกาศนโยบายใหม่เป็นนโยบายแรกของปีนี้ นั่นคือ “National Independence Policy” หรือ “นโยบายอิสรภาพแห่งชาติกัมพูชา” โดยในคำแถลงการณ์ระบุว่า นโยบายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อแสดงความต้องการที่จะลดการพึ่งพาสองตลาดหลักของกัมพูชา อันได้แก่ “ยุโรปและสหรัฐ” และมุ่งให้ความสำคัญกับการค้าการลงทุนภายในเอเชียมากขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงและลดขั้นตอนต่าง ๆ ของระบบศุลกากรตามเขตพรมแดน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน

“นโยบายใหม่นี้จะมุ่งเปิดทางสะดวกในการค้าขายในเอเชีย โดยเริ่มแรกจะปรับลดค่าธรรมเนียมทั้งการนำเข้าและส่งออกตามเขตพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสนับสนุนให้มีกำไรจากการค้าขายมากขึ้น และตอนนี้เริ่มปรับปรุงมาตรการตรวจคนเข้าเมืองเพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก รวมถึงช่วยลดบุคลากรในการทำงานลงด้วย” ฮุน เซนกล่าว

รัฐบาลกัมพูชายังระบุว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมถึงสินค้าเกษตร เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมากที่สุด ดังนั้น ในระหว่างการเยือนจีน คณะรัฐบาลกัมพูชามีแผนหารือเพื่อเสนอให้กัมพูชาเป็นฐานการผลิตสิ่งทอของธุรกิจจีน รวมถึงเพิ่มโควตาสำหรับสินค้าเกษตรบางประเภท โดยคาดหมายว่าจะช่วยชดเชยผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาประเทศได้ โดยคาดการณ์ว่า การแซงก์ชั่นอาจฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจกัมพูชาให้เติบโตเพียง 5-6% ต่อปี จากที่เคยเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี

นายสรัย ธำรง หนึ่งในคณะผู้ติดตามนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กัมพูชาและจีนจะลงนามความร่วมมือ 8 ฉบับ ครอบคลุมทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการศึกษา และหลังจากเสร็จทริปเยือนจีน คาดว่านายกฯจะเดินทางไป “เวียดนาม” เป็นประเทศต่อไป เพื่อกระชับสัมพันธ์ทางการค้า โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนเวียดนามเข้ามาในกัมพูชามากขึ้น และอยู่ในท็อป 5 ของกลุ่มทุนต่างประเทศ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!