สัมพันธ์ EU-กัมพูชาสะบั้น ยุโรปจ่อตัดสิทธิการค้า

ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับกัมพูชา ใกล้ถึงจุดวิกฤตและมีแนวโน้มจะหักสะบั้นลง หลังจากวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป ประกาศจะเริ่มกระบวนการพิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางการค้าต่อกัมพูชา ภายใต้โครงการ Everything but Arms (EBA) ภายในระยะเวลา 18 เดือนจากนี้ไป

เศรษฐกิจของ “กัมพูชา” อยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วง โดยกัมพูชาเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจาก “บังกลาเทศ” ในการเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรป สินค้าที่ส่งออกไปยังอียูทุกรายการจะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า ยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ถูกจัดเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในโลกทั้งหมด 49 ประเทศ

โดยกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลา 18 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ส.ค. 2020 โดยช่วง 6 เดือนแรก ทางอียู จะส่งทีมเข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ของกัมพูชา และติดตามผลพฤติกรรมของนายกฯฮุน เซน ส่วนอีก 12 เดือนที่เหลือ จะเป็นกระบวนการพิจารณาผลทั้งหมด ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการถอดถอนสิทธิพิเศษ

“เฟเดริกา โมเกรินี” หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู กล่าวว่า คำเตือนจากคณะกรรมาธิการยุโรป ไม่ทำให้ฮุน เซน พยายามแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน และประชาธิปไตย ทั้งเปิดทางให้อำนาจเพียงพรรคเดียวตั้งแต่นั่งเป็นผู้นำประเทศ 34 ปี

รอยเตอร์สรายงานว่า อียูเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดมานาน และในปี 2018 การส่งออกสินค้ากัมพูชาไปอียูสูงถึง 45% ของการส่งออกทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า และสินค้าเกษตร มีมูลค่ากว่า 5,000 ล้านยูโรต่อปี ขณะที่โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้า จ้างแรงงานชาวกัมพูชามากถึง 700,000 คน ส่วนตลาดส่งออกอันดับ 2 ของกัมพูชา ได้แก่ “สหรัฐอเมริกา” และ “จีน” เป็นอันดับ 3

อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ ยอมรับว่า กัมพูชามีนโยบายลดการพึ่งพายุโรปและสหรัฐ โดยมีสัดส่วนรวมกันมากถึง 65% ของการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศทั้งหมด และตั้งเป้าจะหันหน้าไปพึ่งพาจีนและชาติอาเซียน แต่นักลงทุนจีนเพิ่งจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในกัมพูชาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อีกทั้งส่วนใหญ่เน้นที่การลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ และบริการอื่น ๆ ไม่ใช่อุตสาหกรรมการผลิต จึงมองว่า ความสัมพันธ์การค้ากับจีนเทียบกับอียู ไม่สามารถทดแทนกันได้ หากกัมพูชาถูกยกเลิกสิทธิพิเศษ EBA จะทำให้เศรษฐกิจเสียหายรุนแรง

ทั้งนี้ ปี 2018 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปจีนราว 634 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร

สำหรับความต้องการของกัมพูชาที่จะผันตัวเองไปเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทอ และรองเท้า ให้กับจีน เพื่อชดเชยรายได้จากอียูนั้น นักวิเคราะห์ในแวดวงธุรกิจสิ่งทอ มองว่ามีความเป็นไปได้ยาก เพราะจีนเองก็ตั้งเป้าเป็นโรงงานผลิตสิ่งทอของโลกมานาน ภายใต้วิสัยทัศน์ “made in China”

ประธานสมาคมสิ่งทอของกัมพูชา ระบุว่า หากอียูพิจารณาริบสิทธิ EBA เป็นไปได้ว่าผู้ผลิตอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้าในกัมพูชา จะย้ายการผลิตไป “เวียดนาม” เพราะเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในอาเซียนที่มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศทั่วโลก ทั้งมี FTA เวียดนาม-อียู

“อาร์โนลด์ ดาร์ก” ประธานหอการค้ายุโรปในกัมพูชา กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนบริษัทของยุโรปกว่า 350 แห่งในกัมพูชา เรามีความกังวลต่อท่าทีของนายกฯฮุน เซน ที่อาจจะเพิกเฉยต่อการตัดสินใจของทางอียู ซึ่งผลกระทบไม่ใช่แค่ทางการค้าเท่านั้น แต่อาจกระทบต่อโครงการพัฒนาอื่น ๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากอียูมากว่า 2 ทศวรรษ

อย่างไรก็ตาม ดูจากท่าทีของนายกฯฮุน เซน ที่ประกาศกร้าวมาแล้ว 2 ครั้งว่าจะไม่ยอมก้มหัวเพื่อแลกกับความช่วยเหลือ และจะหันไปพึ่งพาเม็ดเงินจากจีนแทนนั้น “เอียร์ โซฟัล” รองศาสตราจารย์ด้านกิจการโลกและการทูตชาวกัมพูชา จากวิทยาลัยออกซิเดนทอล มองว่า กระแสต่อต้านทุนจีนในกัมพูชารุนแรงขึ้นทุก ๆ ปี แถมขยายวงจากเมืองหลวงสู่เมืองเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น สีหนุวิลล์ ซึ่งน่าห่วงว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ฮุน เซน จึงควรจะรักษาสมดุลความสัมพันธ์ทางการค้ากับหลาย ๆ ชาติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการนำพากัมพูชาเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้สูง