ครม.มีมติรับทราบผลประชุมคณะทำงานร่วมไทย-เมียนมา เตรียมส่งผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมากลับปท. ครั้งที่ 2

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 14.00 น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.รับทราบผลการประชุมคณะทำงานร่วมไทย-เมียนมา ในการเตรียมการส่งผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมากลับประเทศ ครั้งที่ 2 และเห็นชอบในการรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับได้แก่

ร่างเอกสารสรุปผลหารือของการประชุมคณะทำงานร่วมไทย-เมียนมา ในการเตรียมการส่งผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา (ผภร.) กลับประเทศ ครั้งที่ 2 และร่างเอกสารแนวทางการส่งผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาที่พิสูจน์สัญชาติแล้วจากประเทศไทย โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการรับรองให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าวว่าสาระสำคัญคือ เอกสารแนวทางในการส่งกลับ ผภร. ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วจากประเทศไทยมีสาระสำคัญประกอบด้วย (1) วัตถุประสงค์ เพื่อให้ส่งกลับอย่างมีระบบ มีกรอบเวลา และอยู่บนหลักการ “ปลอดภัย สมัครใจ และมีศักดิ์ศรี” (2) กรอบเวลา อย่างน้อยสองครั้งต่อปี โดยประเมินจากพัฒนาการของการส่งกลับครั้งก่อนหน้า

(3) การจัดสรรพื้นที่ ฝ่ายเมียนมาจะกำหนดพื้นที่เดินทางกลับโดยพิจารณาจากถิ่นที่อยู่เดิมและให้ความช่วยเหลือในการเดินทางกลับ การตั้งถิ่นฐานใหม่ และการฟื้นฟูสภาพชีวิต รวมทั้งร่วมมือกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าว

(4) จุดผ่านแดนและศูนย์แรกรับ หากจำเป็น ฝ่ายเมียนมาจะจัดให้มีศูนย์แรกรับในฝั่งเมียนมา และฝ่ายไทยอาจกำหนดจุดพักรอในฝั่งไทยก่อนข้ามแดนไปฝั่งเมียนมา โดยจะไม่เป็นการยอมรับหรือเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของจุดผ่านแดนและพื้นที่โดยรอบ

(5) คณะทำงานเทคนิคด้านการส่งกลับ จัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่จากทั้งสองฝ่ายทันทีที่ทราบกำหนดวันส่งกลับและประชุมเป็นระยะเพื่อทบทวนและประเมินผล (6) Case Management Team ฝ่ายไทยจะส่งรายชื่อ ผภร. ที่ประสงค์เดินทางกลับพร้อมแบบฟอร์มข้อมูลรายบุคคล และฝ่ายเมียนมาจะกำหนดเวลาลงพื้นที่สัมภาษณ์อย่างสม่ำเสมอ

(7) คณะทำงานร่วมไทย-เมียนมา ในการเตรียมการส่ง ผภร. กลับประเทศ ประชุมปีละ 1 ครั้งหรือตามเห็นสมควร เพื่อรับทราบพัฒนาการและพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะทำงานเทคนิค และให้ทิศทางหรือแนวนโยบายที่จำเป็น

(8) หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ เช่น ต้องสมัครใจเดินทางกลับ มีชื่อในแบบฟอร์มลงทะเบียนรายครอบครัวของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees-UNHCR) เคยมีถิ่นที่อยู่ในเมียนมา เด็กต้องมีบิดามารดาที่เคยมีถิ่นพำนักในเมียนมา ห้ามใช้เอกสารปลอม

(9) เอกสาร ใช้เอกสารทางการที่ออกโดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาเป็นหลัก โดยสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยจะรับรองเอกสารที่จำเป็นตามที่คณะทำงานเทคนิคกำหนด (10) กระบวนการส่งกลับ และ (11) การมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนภายนอก ระบุแนวทางการมีส่วนร่วมขององค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องและหุ้นส่วนภายนอกอื่น ๆ เช่น ประเทศที่สนใจร่วมให้ความช่วยเหลือในการส่งกลับ