เวิลด์แบงก์ชี้ สิทธิสตรี ‘ไทย’ ต่ำกว่า ‘ลาว-เวียดนาม-ฟิลิปปินส์’

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ เผยแพร่รายงานผลการวิจัยเชิงสำรวจว่าด้วยความเท่าเทียมกันของผู้ชายและผู้หญิงในการทำธุรกิจและการได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย ประจำปี 2562 (วีเมนส์, บิสสิเนส แอนด์ ลอว์ รีพอร์ต 2019) โดยมีการสำรวจสถานะดังกล่าวใน 187 ประเทศทั่วโลกเพื่อประเมินเป็นคะแนนสำหรับจัดทำดัชนีชี้สถานภาพของผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและธุรกิจ ในช่วง 10 ปี โดยชี้ให้เห็นภาพรวมว่า ผู้หญิงโดยเฉลี่ยแล้วยังคงได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายเพียงแค่ 3 ใน 4 ของความคุ้มครองที่ผู้ชายได้รับระหว่างการใช้ชีวิตในการทำงาน ตั้งแต่การไม่สามารถเข้าทำงานในบางตำแหน่งได้ เรื่อยไปจนถึงไม่ได้รับเงินตอบแทนอย่างเท่าเทียม และ เสรีภาพจากการถูกลวนลามทางเพศ

กฎหมายที่มีการสำรวจเพื่อประเมินดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องสถานภาพการทำงานของผู้หญิงและเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการทำงานในตำแหน่งงานเดียวกันกับผู้ชายและได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียม, บทลงโทษสำหรับผู้กระทำการเข้าข่ายเป็นการลวนลามทางเพศในสถานที่ทำงาน, การให้ความคุ้มครองสถานภาพการทำงานเมื่อมีลูกและสิทธิในการรับมรดก นอกเหนือจากประเด็นพื้นฐานอย่าง การเป็นอิสระในการเคลื่อนไหวของผู้หญิง การได้รับความคุ้มครองจากความรุนแรงในบ้าน และประเด็นทั้งหมดที่ทำให้ผู้หญิงไม่มีอิสระในเชิงเศรษฐกิจทั้งหมด

ในส่วนของการจัดทำดัชนีเพื่อใช้เป็นดัชนีชี้วัดความเท่าเทียมและเป็นมาตรวัดความก้าวหน้าในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น ทีมวิจัยของเวิลด์แบงก์พบว่าประเทศส่วนใหญ่คือ 131 ประเทศได้ตรากฎหมายเพื่อปฏิรูปสิทธิสตรีขึ้น โดยเมื่อประเมินแล้วมี 6 ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด 100 คะแนนเต็มเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมาประกอบด้วย เบลเยียม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, ลัตเวีย, ลักเซมเบิร์ก และสวีเดน แต่ในเวลาเดียวกันก็มีอีกถึง 56 ประเทศที่ไม่มีการปรับปรุงเกี่ยวกับเรื่องนี้ในทุกๆ ด้านเลย โดยค่าเฉลี่ยของ 187 ประเทศที่สำรวจอยู่ที่ 74.1 คะแนน

ในดัชนีระบุว่า ไทยมีคะแนนรวมของความก้าวหน้าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 75 คะแนนเท่ากับกัมพูชา แต่ได้คะแนนรวมต่ำกว่า ลาว ซึ่งอยู่ในอันดับสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยได้คะแนนสูงถึง 88.13 คะแนน ต่อด้วย สิงคโปร์ (82.50), เวียดนาม (81.88), ฟิลิปปินส์ (81.25) ส่วนชาติอาเซียนที่มีคะแนนตามหลังไทย มี อินโดนีเซีย (64.38), พม่า (56.25), บรูไน (53.13) และมาเลเซียอยู่ในอันดับต่ำสุดคือ 50 คะแนน ที่น่าสังเกตุก็คือ ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา มีคะแนนรวมอยู่ที่ 83.75 คะแนน ส่วนจีนสูงกว่าไทยเล็กน้อยอยู่ที่ 76.25 คะแนนและอินเดียอยู่ที่ 71.25 คะแนนเท่านั้น

 

ที่มา  มติชนออนไลน์