สารพัดปัญหา “รถไฟลาว-จีน” อาจทลายฝันแผน OBOR

โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (OBOR) ทำให้ “จีน” แผ่อิทธิพลขึ้น โดยโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่จะฟื้นคืนชีพความยิ่งใหญ่ให้เหมือนดั่งอดีต เพื่อเชื่อมเส้นทางการค้าทั่วทวีปเอเชีย-แอฟริกา-ยุโรป

สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซีย เปลี่ยนใจยอมอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงหลังพับโครงการไปเมื่อปี 2018 หลังจีนยอมลดค่าใช้จ่าย 1 ใน 3 ของการก่อสร้าง จากเดิมที่ 65,500 ล้านริงกิต เหลือ 44,000 ล้านริงกิต โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟไฮสปีดที่เชื่อมจาก “คุนหมิง” ผ่านไปทาง สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟทางฝั่ง สปป.ลาวเชื่อมจีนตอนใต้ “วีโอเอ ภาษาลาว” ระบุว่า “บุนยัง วอละจิด” ประธานประเทศ ยืนยันว่าโครงการก่อสร้างรถไฟลาว-จีน คืบหน้าแล้ว 60% โดยเจาะอุโมงค์ลอดภูเขาขนาดใหญ่ที่มีความยาว 5 กม. สำเร็จไปแล้ว 1 แห่ง จากทั้งหมด 10 อุโมงค์

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 17 เม.ย.ที่ผ่านมากลุ่มนักเคลื่อนไหวอิสระลาว รวมตัวเรียกร้องรัฐบาลให้ปรับแก้เงื่อนไขข้อตกลงระหว่างจีนอีกครั้ง เจ้าหน้าที่องค์กรแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ดินใน สปป.ลาว ระบุว่าหนึ่งในปัญหาใหญ่จากโครงการ คือ “ค่าเวนคืนที่ดิน” สองข้างทางที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งโครงการส่งผลกระทบถึง 4,411 ครอบครัว ใน 13 อำเภอ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

3,832 เฮกตาร์ ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างในปี 2016 จนถึงเดือน ม.ค. 2019 ทางการได้จ่ายค่าเวนคืนที่ดินไปแล้วเพียง 63 คน

โดยทางการจ่ายในอัตราที่ต่ำกว่าราคาประเมินที่ดินในปัจจุบันมากเกือบ 10 เท่า เช่น ค่าชดเชยที่ดินในแขวงหลวงน้ำทา อุดมไซ และหลวงพระบาง อยู่ที่อัตรา 11,000-80,000 กีบ/ตารางเมตร และในเวียงจันทน์อยู่ที่ 15,000-137,000 กีบ/ตารางเมตร ซึ่งเป็นราคาประเมินของปี 2016 ขณะที่ราคาประเมินที่ดินในปัจจุบันของเวียงจันทน์สูงถึง 1,300,000 กีบ/ตารางเมตร

สำหรับ “แรงงานจีน” เป็นอีกประเด็นที่ถูกเรียกร้อง โดยกระทรวงแรงงานสปป.ลาว ยอมรับว่าการก่อสร้างโครงการใช้แรงงาน 30,000 คน และเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานจีน ตัวเลขแรงงานชาวจีนในปี 2018 อยู่ที่ 19,000 คน แต่ข้อมูลล่าสุดเดือน ก.พ. พบว่ามีแรงงานชาวจีนกว่า 27,000 คน ชี้ว่ารัฐบาลลาวเพิกเฉยคำมั่นที่จะปรับสัดส่วนแรงงานต่างชาติในโครงการนี้


ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากสิงคโปร์มองว่า โครงการรถไฟเส้นทางลาว-จีน อาจจะล่าช้ากว่ากำหนดในปี 2021 พร้อมระบุว่า เส้นทางรถไฟจีน-ลาวมีความสำคัญ หากแผนก่อสร้างคลาดเคลื่อน เส้นทางรถไฟที่ครอบคลุมประเทศอื่นอาจต้องเลื่อนออกไปด้วย