“สิงคโปร์-มาเลย์” ขยายเมืองข้ามพรมแดน

คอลัมน์ รู้จักอาเซียน
โดย มัธธาณะ รอดยิ้ม


ในกระแสธารโลกาภิวัตน์ที่ไหลแรงเห็นได้ว่าการเคลื่อนย้ายผู้คนมันไม่ได้จำกัดอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดการเคลื่อนย้ายถ่ายเทผู้คนข้ามประเทศอยู่ตลอดเวลา เรื่องในทำนองนี้หลายคนอาจจะเคยเห็นกับที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป (อียู) กับการเดินทางจากบ้านที่อยู่ในประเทศหนึ่งสู่ที่ทำงานในอีกประเทศหนึ่ง

กับการเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมากับรัฐบาลของรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย กับรัฐบาลสิงคโปร์ที่ตกลงร่วมกันว่าจะเชื่อมพรมแดนให้ผู้คนจากสองประเทศนี้ไปมาหาสู่ได้เร็วยิ่งขึ้นผ่านการขยายระบบเอ็มอาร์ที หรือขนส่งมวลชนทางรางข้ามแดนจากสิงคโปร์ไปจอดรับผู้คนที่เมืองยะโฮร์บาห์รู เมืองหลวงของรัฐยะโฮร์

ทั้งสองประเทศตั้งเป้าว่าจะทำให้สำเร็จภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนย้ายคนข้ามประเทศเกิดง่ายมากขึ้น ลดภาวะคอขวดของเส้นทางข้ามประเทศเดิม

ความพยายามที่เกิดขึ้นนับเป็นนิมิตหมายที่ดี เนื่องจากสะพานที่เชื่อมระหว่างเกาะสิงคโปร์กับมาเลเซียมีเพียงแค่ “สะพานยะโฮร์คอสเวย์” เส้นทางหลักทางเหนือเชื่อมตรงกับเมืองยะโฮร์ บาห์รู กับ “สะพานมาเลเซีย-สิงคโปร์ เซกันด์ลิ้งก์” ที่เชื่อมทางทิศตะวันตกของสิงคโปร์

ส่วนจำนวนผู้ใช้สะพานข้ามพรมแดนทั้งสองแห่งนี้ โดยลำพังแค่ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียที่ระบุว่า มีจำนวนมากกว่า 250,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นผู้ใช้จักรยานยนต์ร้อยละ 58 ที่เหลือเป็นคนใช้รถยนต์ร้อยละ 36 และอย่าลืมว่ามีจำนวนผู้ใช้รถเมล์ข้ามประเทศจำนวนไม่น้อยอยู่ด้วยจำนวนดังกล่าวบวกลบพิธีการตรวจคนเข้าเมือง คงจินตนาการกันออกว่าการข้ามแดนทั้งทีคงใช้เวลานานเอาเรื่องอยู่

แต่ความเคลื่อนไหวจากภาครัฐที่เชื่อมการขนส่งระหว่างประเทศ มีการตั้งเป้าว่าจะสามารถขนถ่ายผู้คนได้ 10,000 คนต่อชั่วโมง ส่วนเรื่องพิธีการตรวจคนเข้าเมืองทั้งสองประเทศบอกชัดว่าจะทำเหมือนกับแผนที่จะใช้กับการตรวจคนเข้าเมืองของโครงการรถไฟความเร็วสูง ก็คือการใช้ศุลกากรตรวจคนเข้าเมืองและการคัดกรองต่าง ๆ ร่วมกันในสถานีที่ระบบเอ็มอาร์ทีให้บริการ

หมายความว่าผู้โดยสารจะผ่านการตรวจคนเข้าเมืองเพียงครั้งเดียวจากประเทศต้นทางเท่านั้น ซึ่งเป็นการประหยัดเวลา ไม่ต้องยืนรอตรวจคนเข้า-ออกเมืองยาวนานหลายชั่วโมง จากเดิมที่ต้องตรวจจากฝั่งมาเลเซียและไปตรวจอีกทีที่ฝั่งสิงคโปร์

หากมองมุมการพัฒนาแล้ว สิงคโปร์ ที่เป็นลักษณะนครรัฐเองที่มีศักยภาพอย่างจำกัดในเรื่องพื้นที่สวนทางกับเมืองที่ขยายตัวออกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจัยด้านที่อยู่อาศัยที่แพงขึ้นอย่าง

ต่อเนื่อง ขณะที่ในเมืองยะโฮร์บาห์รูยังถูกกว่า นอกจากสิงคโปร์จะได้ประโยชน์แล้ว มาเลเซียก็ยังได้รับอานิสงส์ตอบโจทย์โครงการเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ ในรัฐยะโฮร์ที่ล้อมสิงคโปร์อยู่ทุกทิศทาง ในแง่การเดินทางเสริมความคล่องตัวให้กับทรัพยากรบุคคล

แนวโน้มการข้ามแดนของมวลผู้คนที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ผู้คนในศูนย์กลางประเทศน้อยคนนักที่จะรู้ว่าบริเวณพรมแดนมันมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่ตลอดเวลา เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลหลายประเทศต้องใส่ใจและลดขั้นตอนยุ่งยากให้ได้มากที่สุด