“นายกฯ” ชี้ ศก.ไทย-อาเซียนโต พร้อมร่วมมือสู่ “ตลาดอันดับ 4 ของโลก”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “The Future of Thailand and ASEAN” ในการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดโดยสำนักข่าว “บลูมเบิร์ก” ณ โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโตเรีย กรุงเทพฯ ในวันนี้ (21 มิ.ย. 2562)

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไทยรับหน้าที่เป็นประธานและเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในปีนี้

“ไทยมีศักยภาพและความพร้อมหลายด้านที่จะเดินหน้าพัฒนาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าพร้อมกับภูมิภาค ซึ่งในปัจจุบัน เหตุการณ์ในประเทศมีเสถียรภาพ โดยไทยได้ก้าวพ้นสถานการณ์ความไม่สงบ มีความปรองดอง และสามารถแก้ปัญหาคั่งค้างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศหลายประการ เช่น การประมงผิดกฎหมาย การปราบปรามการค้ามนุษย์ และการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ เป็นต้น”

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่าเป็นไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้ “ผมยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อ และจะพยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อสืบสานนโยบายพัฒนาประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”

ทั้งนี้ในปี 2561 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้ 4.1% สูงสุดในรอบ 6 ปี โดยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 253,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนรวมขยายตัว 3.8% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็เติบโตขึ้น มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนไทยถึง 38 ล้านคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 2.9 ล้านคนจากปีก่อนหน้า และปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มถึง 40 ล้านคน

นายกรัฐมนตรียังระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยกฎระเบียบที่เอื้ออำนวย ซึ่งการจัดอันดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจในปี 2561 ของธนาคารโลก ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 27 จากทั้งหมด 190 ประเทศ สูงขึ้นจากปีก่อน 19 อันดับ และเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ไทยยังจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการเป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย โดยรัฐบาลได้ผลักดันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) ให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการผลิต การค้าและการลงทุนในภูมิภาค และยังเตรียมที่จะประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นในประเทศด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ระบุว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เป็นกรอบในระยะยาว มีเป้าหมายหลักในการขจัดความยากจนภายในประเทศ และเน้นย้ำความสำคัญของ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยเฉพาะหลักการพึ่งพาตนเองภายใต้ความพอประมาณและความมีเหตุผล เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งจากภายในด้วยการกระจายความมั่งคั่งไปถึงระดับ “ฐานราก” โดยภาคเอกชนจะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยและ SMEs สามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่มูลค่าของโลกได้ ด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างภูมิคุ้มกันผลกระทบจากความท้าทายภายนอก

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้า ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างมหาอำนาจ และความท้าทายจาก “การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4” หรือความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า ไทยและอาเซียนมีศักยภาพสูงที่จะรับมือและปรับตัวให้เป็นสนามการค้าการลงทุนที่มีเสถียรภาพและตอบโจทย์ให้กับนักลงทุนทั่วโลกได้

ประกอบกับอาเซียนในปัจจุบันเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก มีประชากรกว่า 650 ล้านคน มีความหลากหลายและเป็นจุดยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศสำคัญ ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพของอาเซียนในการที่จะพัฒนาไปเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลกภายในปี 2573 ได้ไม่ยาก

โดยจะเห็นแนวโน้มดังกล่าวในมูลค่า GDP ของอาเซียนในปี 2560 เท่ากับ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเติบโตเฉลี่ย 5.3% ส่วนมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศเท่ากับ 1.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเติบโต 11.6% ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนภูมิภาคนี้ถึง 125.5 ล้านคน

“ผมอยากผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวระหว่างอาเซียนให้ได้ เช่น แผนการ “two countries, one destination” ไม่ใช่เที่ยวใครเที่ยวมัน”

นอกจากนี้ อาเซียนยังมีจุดแข็งอย่างเช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและอีก 6 ประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ โดย RCEP จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก คือ GDP รวมกันเท่ากับหนึ่งในสามของ GDP โลก เป็นโอกาสให้อาเซียนสามารถเติบโตได้อีกมาก

ขณะที่หลายประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งช่วยยกระดับมาตรฐานความร่วมมือของภูมิภาค เพื่อพัฒนาห่วงโซ่มูลค่า รวมถึงอาจเป็นโอกาสที่ประเทศสมาชิกอื่น รวมทั้งไทย จะพิจารณาเข้าร่วมเพื่อขยายความร่วมมือออกไปด้วย

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าอาเซียนมีพื้นฐานที่มั่นคง สมาชิกอาเซียนตระหนักดีว่า “อาเซียนที่แข็งแกร่ง คือ ผลประโยชน์แห่งชาติ” ไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ได้นำเสนอแนวคิดหลัก คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนผ่านความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับประชาคมระหว่างประเทศ และเชื่อมโยงระหว่างกันภายในประชาคมให้มากขึ้น เป็นอาเซียนที่ไร้รอยต่อ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีความเท่าเทียม เคารพในความหลากหลาย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของอาเซียนมีเป้าหมาย 3 ด้าน ซึ่งไทยต้องการผลักดันให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2562 ได้แก่ 1) การมุ่งสู่อนาคตคือความพร้อมในการเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม 2) ส่งเสริมความเชื่อมโยงการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนให้ครบทั้ง 10 ชาติ และ 3) สร้างความยั่งยืนในทุกมิติ