“มัณฑะเลย์” ก้าวกระโดด “Smart City” แรกในเมียนมา

REUTERS/Ann Wang

เมืองอัจฉริยะ หรือ “สมาร์ทซิตี้” กำลังเป็นที่พูดถึงในหลายประเทศทั่วโลก ด้วยความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่หลายประเทศกลับไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจให้เป็นสมาร์ทซิตี้ เพราะข้อจำกัดด้านระบบและโครงสร้างต่าง ๆ ที่ยากจะเปลี่ยนแปลง แต่การสร้างสมาร์ทซิตี้ใน “เมืองรอง” ที่มีระบบที่ยืดหยุ่นมากกว่า จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่บางประเทศใช้ และประสบความสำเร็จอย่าง “มัณฑะเลย์” ของเมียนมา

“รอยเตอร์ส” รายงานความก้าวหน้าของการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์ อดีตเมืองหลวงและเมืองใหญ่อันดับสอง ให้กลายเป็นสมาร์ทซิตี้แห่งแรกของเมียนมา ในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยการผลักดันของ “เย ลวีน” อดีตจักษุแพทย์ที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของมัณฑะเลย์ หลังรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาชนะเลือกตั้งในปี 2015 และทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์

“มัณฑะเลย์” เป็นส่วนหนึ่งของ “เครือข่ายเมืองอัจฉริยะ” อาเซียน ที่ริเริ่มโดยสิงคโปร์ ในฐานะประธานอาเซียนในปี 2018 ซึ่งมีเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมทั้งสิ้น 26 เมือง โดยเมียนมาได้เสนอชื่อ 3 เมืองเข้าร่วม ได้แก่ เนย์ปิดอว์ ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์

แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือของชาวมัณฑะเลย์ และผู้บริหารเมืองได้ผลักดันให้การพัฒนาเป็นไปอย่างก้าวไกลกว่าเมืองอื่น มีการใช้เทคโนโลยีติดต่อสื่อสารกันโดยตรงระหว่างชาวเมืองกับราชการ โดยเฉพาะนายกเทศมนตรี ลวีน ที่รับฟังความคิดเห็นและตอบกลับประชาชน รวมถึงประสานงานกับผู้ใต้บังคับบัญชาผ่านทางอีเมล์และโซเชียลมีเดีย แตกต่างจากเมืองอื่น ๆ ที่รับข้อร้องเรียนผ่านแบบฟอร์มในรูปแบบกระดาษเท่านั้น

เย เมียะ ตู ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที และหนึ่งในคณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์ ระบุว่า “เป้าหมายของเราคือการสร้างเมืองที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้เป็นเมืองน่าอยู่ด้วยระบบเศรษฐกิจที่ดี และเป็นมิตรต่อระบบนิเวศ ซึ่งเราสามารถทำได้ด้วยเทคโนโลยี”

ก่อนหน้านี้ มัณฑะเลย์ไม่ต่างจากเมืองอื่นของเมียนมาที่มีความแออัดของประชากร น้ำประปาไม่สะอาดพอที่จะใช้ดื่มได้ การจราจรติดขัดเนื่องจากจำนวนยานพาหนะที่เพิ่มขึ้น หลังการเปิดเสรีนำเข้ายานพาหนะจากต่างประเทศในปี 2012 รวมถึงปัญหาพื้นผิวถนนขรุขระ และปัญหาขยะมูลฝอยในเขตเมือง

โปรเจ็กต์การพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์ได้รับเงินทุนส่วนหนึ่งจากธนาคารพัฒนาเอเชีย แต่เงินทุนส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บภาษีภายในเมืองด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การที่ผู้บริหารเมืองใช้ภาพสามมิติที่ถ่ายจากโดรน ร่วมกับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เทศบาลที่สำรวจเมืองด้วยระบบจีพีเอส (GPS) ทำให้สะท้อนภาพของครัวเรือนและธุรกิจที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินถูกต้องชัดเจน เป็นต้น

เงินทุนเหล่านี้ถูกนำไปพัฒนาระบบการจัดเก็บค่าไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี โดยไม่ต้องอ่านค่าที่มิเตอร์วัดการใช้ไฟฟ้าของบ้านแต่ละหลังโดยตรง นอกจากนี้ ยังมีระบบควบคุมการจราจรภายในเมืองด้วย “รีโมตเซ็นเซอร์” โดยเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้กับกล้องวงจรปิดบนถนนทำหน้าที่ตรวจจับความแออัด และปรับลำดับของสัญญาณไฟจราจรให้เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีระบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอยภายในเมืองด้วยจีพีเอสที่ติดตั้งในรถเก็บขยะ เพื่อควบคุมการขนส่งขยะจากหลาย ๆ แหล่งไปรวบรวมไว้ในจุดเดียวอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันชาวมัณฑะเลย์ยังสามารถชำระสินค้าด้วยคิวอาร์โค้ด รวมถึงอีกหลายเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากกว่าเมืองอื่น แม้แต่ใน “ย่างกุ้ง” เมืองหลวงทางเศรษฐกิจและเมืองใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ ที่ยังไม่มีการนำเทคโนโลยีบางอย่างมาใช้งาน เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎระเบียบต่าง ๆ

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการเสนอข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเมืองมัณฑะเลย์ กับ “หัวเว่ย” บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน เพื่อติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มีเทคโนโลยีจดจำใบหน้า และอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยภายในเมือง ตามโครงการ “เมืองปลอดภัย” (Safe City) ด้วยงบประมาณ 1.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงคัดค้านจากนักเคลื่อนไหวบางกลุ่มที่กังวลว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวเมียนมา รวมถึงก่อนหน้านี้ที่หัวเว่ยถูกขึ้นบัญชีดำโดยสหรัฐอเมริกาที่กล่าวหาว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานอาจถูกสอดแนมโดยทางการจีน

โดย “ญี จอ” นักเคลื่อนไหวในมัณฑะเลย์ กล่าวว่า “ไม่เคยมีความไว้วางใจระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมกับรัฐบาล หากสิ่งนี้เกิดขึ้นโดยอ้างเรื่องความปลอดภัย นักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมืองจะถูกจับตามากกว่าอาชญากรเสียอีก”