แผนพัฒนา ศก. “ลาว” สะดุด “ขาดแรงงาน” ปัญหาใหญ่อันดับ 1

TO GO WITH "MEKONG-SUMMIT-CHINA-ECONOMY" by Frank Zeller A Chinese man (C) sits in front of his shop in downtown Vientiane on March 29, 2008. When the six Mekong countries meet in Laos from March 30 China will be the elephant in the room, having lavished highways and sports stadiums on its neighbours and expanded its reach for resources. AFP PHOTO/HOANG DINH Nam (Photo by HOANG DINH NAM / AFP)

“สปป.ลาว” ประเทศที่มีประชากรน้อยที่สุดอันดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากประเทศบรูไน และสิงคโปร์ ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็น “แลนด์ล็อก” หรือประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ทำให้ยุทธศาสตร์ “แลนด์ลิงก์” มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาชาติ

ขณะที่ปัจจุบัน “การขาดแคลนแรงงาน” กำลังเป็นปัญหาใหญ่อันดับหนึ่งของ สปป.ลาว ซึ่งกระทบต่อการลงทุนที่เข้ามาในประเทศ

เวียงจันทน์ ไทม์ส รายงานว่ากระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับ “ความไม่สมดุล” ระหว่างดีมานด์และซัพพลายด้านแรงงานใน สปป.ลาว เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยยอมรับเป็นครั้งแรกว่า ประเทศกำลังเผชิญปัญหา “แรงงาน” จนกลายเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้สิ่งที่รัฐบาลกังวล คือ การดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศ โดยให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติอันดับหนึ่ง

สาเหตุสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1.ทักษะและความเชี่ยวชาญของแรงงานลาวไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ขณะที่กฎระเบียบให้ต้องถ่ายทอดองค์ความรู้จากบริษัทต่างชาติยังไม่ครอบคลุม 2.แรงงานหนุ่มสาวลาวอพยพออกนอกประเทศมากขึ้น โดยในปี 2018 มีชาวลาวเดินทางไปทำงานต่างแดนมากกว่า 120,000 คน ซึ่ง “ประเทศไทย” เป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งที่ต้องการเข้ามาทำงาน

ดังนั้น บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่จึงมีการนำเข้าแรงงาน มากกว่าการจ้างแรงงานในประเทศ โดยกลุ่มนักลงทุนต่างชาติใน สปป.ลาว ส่วนใหญ่มาจาก “จีน” ตามด้วยเวียดนาม และไทย

ปัญหาความไม่สมดุลของแรงงานที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาว ที่ด้านหนึ่งเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานจนต้องนำเข้าแรงงานต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกัน แรงงานในประเทศมีจำนวนว่างงานสูงขึ้น จึงเป็นความท้าทายของ สปป.ลาว ในการ “ยกระดับทักษะ” แรงงานให้ตอบโจทย์เพื่อลดอัตราการว่างงาน โดยใน 2018 มีคนว่างงานอยู่ที่ 182,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่มีคนว่างงานราว 100,000 คน และประเมินว่า ปัญหาการว่างงานจะรุนแรงขึ้น และอาจแตะระดับ 250,000 คน ในปี 2020

รายงานระบุว่า แม้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เปิดกว้างต่อการลงทุนจากต่างประเทศ โดยหนึ่งในกฎระเบียบที่ผ่อนปรนให้ต่างชาติ คือการเพิ่มโควตาการนำเข้าแรงงานต่างชาติจาก 20,000 คน/ปี เป็น 70,000 คน/ปี อย่างไรก็ตาม สปป.ลาวยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า “ภาคก่อสร้าง” เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยความต้องการแรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ 4,400 คน/ไซต์ แต่พบว่ามีแรงงานเพียง 1,350 คน/ไซต์เท่านั้น ส่งผลให้โครงการก่อสร้างหลายโปรเจ็กต์ของภาครัฐ เช่น ถนน สะพาน และทางรถไฟ ต้องเลื่อนกำหนดวันเปิดใช้งาน

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และทางรถไฟที่เชื่อมโยงกับจีน ที่ประเมินว่าอาจต้องใช้แรงงานมากถึง 5,000 คน/ไซต์ ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ

ทั้งนี้ นายอ่อนสี บุดสิวงสัก ที่ปรึกษาอาวุโสหอการค้าแห่งชาติลาวกล่าวว่า หลักสูตรการศึกษาของ สปป.ลาว มีส่วนทำให้ภาคแรงงานไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานโลก “หลักสูตรการบริหารจัดการ” เป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่กลับมีตำแหน่งงานรองรับน้อยที่สุด


ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์นี้ที่ชัดเจน ที่ปรึกษาอาวุโสหอการค้าแห่งชาติลาวย้ำว่า “ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องออกมาตรการรั้งคนหนุ่มสาวให้ทำงานในประเทศให้ได้ และลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติให้น้อยลง ที่สำคัญ ต้องมีกฎระเบียบเกี่ยวกับการถ่ายโอนความรู้จากบริษัทต่างชาติที่บังคับใช้ได้ โดยไม่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศ”